“การทำประกันภัยสุขภาพ” หนึ่งในขั้นตอนการวางแผนการเงินที่สำคัญ เป็นการจัดการกับความเสี่ยง (Risk Management) เพราะในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินหรือบาดเจ็บขึ้นมา การมีประกันสุขภาพไว้จะช่วยลดความกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลได้ แต่ประกันภัยสุขภาพมีมากมาย หลากหลายแผนและวงเงินประกัน เราจะเลือกอย่างไรให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของเรา วันนี้อีซี่ อินชัวร์จะพาทุกคนไปหาคำตอบว่า เราเหมาะกับแผนประกันภัยสุขภาพแบบไหนกัน
ตรวจสอบสวัสดิการและประกันภัยต่าง ๆ
อันดับแรกในการเลือกแผนประกันภัยสุขภาพคือ เราจะต้องตรวจสอบสวัสดิการทั้งหมดที่เรามี ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของประกันสังคม ประกันกลุ่มของออฟฟิศ หรือสวัสดิการของเจ้าหน้าที่ภาครัฐหรือข้าราชการ โดยดูรายละเอียดทั้งหมดว่าสวัสดิการและประกันภัยต่าง ๆ ที่เรามีครอบคลุมเรื่องใดบ้าง และมีวงเงินคุ้มครองเท่าไร ทั้งการเบิกค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วยนอก (OPD) ค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยใน (IPD) ค่าห้อง ค่าผ่าตัด ค่าพยาบาลฉุกเฉิน ค่ารักษาพยาบาลในกรณีอุบัติเหตุหรือฉุกเฉิน โรคร้ายแรง เงินชดเชยรายได้ ค่าสินไหมกรณีทุพพลภาพถาวรหรือเสียชีวิต
การตรวจสอบสิทธิ สวัสดิการ และความคุ้มครองของประกันภัยสุขภาพที่เรามีอยู่ จะช่วยเราทั้งในแง่ของการประหยัดเงินค่าเบี้ยประกัน กล่าวคือ หากว่าเรามีสวัสดิการของรัฐหรือของออฟฟิศอยู่แล้ว เราสามารถเลือกแผนแบบรับผิดส่วนแรกได้ โดยจะสามารถลดค่าเบี้ยประกันที่ต้องจ่ายในแต่ละปี นอกจากนี้ยังทำให้สามารถประเมินได้ว่าเงินคุ้มครองที่เราได้รับรวมกันแล้วครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นได้จริง ตรงตามที่เราต้องการไหม ทำให้เราไม่จำเป็นต้องหาเงินก้อนมาจ่ายให้ปวดหัวอีกต่อไป
ตรวจสอบความเสี่ยงด้านสุขภาพ
แม้ว่าอายุเท่ากัน เติบโตมาในสถานที่เดียวกัน แต่สุขภาพของแต่ละคนก็แตกต่างกันไป ทั้งสาเหตุจากกรรมพันธุ์ อาหารการกิน สภาพแวดล้อม การดูแลสุขภาพและการออกกำลังกาย และปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมาย ดังนั้น ก่อนทำประกันภัยสุขภาพทุกครั้ง เราควรตรวจสอบความเสี่ยงของเรา โดยถามคำถามดังต่อไปนี้กับตัวเอง
-
- ครอบครัวและคนใกล้ชิดของเราเป็นโรคร้ายแรงหรือไม่
- เราสูบบุหรี่ ดื่มสุรา หรือของมึนเมาหรือไม่
- เรานอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอหรือไม่
- เรากินอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพหรือเปล่า
- เราออกกำลังกายเป็นประจำหรือไม่
- เรามีน้ำหนักเกินกว่าปกติหรือไม่
- เราตรวจสุขภาพประจำปีหรือไม่
- เรามีโรคประจำตัวหรือไม่
- เรามีอาชีพที่เสี่ยงต่อโรคหรืออุบัติเหตุหรือไม่
คำถามต่าง ๆ เหล่านี้เป็นการตรวจสอบแนวโน้มของความเจ็บป่วยเบื้องต้นของเรา โดยเฉพาะหากว่าคนในครอบครัวของเราเป็นโรคร้ายแรง เราก็มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคดังกล่าว ด้วยกรรมพันธุ์และพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่คล้ายคลึงกันนั่นเอง
ดังนั้น หากว่าคนในครอบครัวของเรามีคนที่ป่วยหรือเคยป่วยเป็นโรคร้ายแรง อย่างมะเร็ง เบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด เราก็ควรจะทำประกันภัยสุขภาพที่ครอบคลุมโรคร้ายแรงดังกล่าวเอาไว้ โดยเฉพาะหากว่าคน ๆ นั้นเป็นพ่อแม่พี่น้องหรือญาติที่ใกล้ชิดของเรา
ตรวจสอบค่ารักษาพยาบาลพื้นฐานในโรงพยาบาล
เมื่อเราเจ็บป่วยหรือต้องการบริการทางการแพทย์ เราย่อมต้องการสิ่งที่ดีที่สุดและถูกใจเราที่สุดในการดูแล ดังนั้น เราจึงควรตรวจสอบค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือโรงพยาบาลประจำของเรา เพื่อคำนวณค่าใช้จ่ายและค่ารักษาพยาบาลต่าง ๆ ว่าอยู่ที่ประมาณเท่าไร ทั้งในกรณีที่เป็นผู้ป่วยนอก และผู้ป่วยใน
การตรวจสอบค่ารักษาพยาบาลนั้น ให้เราตรวจสอบค่าใช้จ่ายดังต่อไปนี้
- ค่าแพทย์ ค่าโรงพยาบาล สำหรับผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลเอกชนในปัจจุบันมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง จึงควรสอบถามและเผื่อค่าใช้จ่ายในส่วนของเงินประกันเอาไว้ เพื่อให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาล
- ค่าห้อง ค่าอาหาร ค่าแพทย์ตรวจรักษา สำหรับผู้ป่วยใน
- ค่าผ่าตัด ค่าหัตถการ และรักษาพยาบาลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
- ค่าตรวจวินิจฉัยทางรังสีวิทยาและการตรวจทางห้องปฏิบัติการ
- ค่ารักษาพยาบาลฉุกเฉิน
ทั้งหมดนี้เราสามารถสอบถามกับโรงพยาบาลประจำของเรา หรือโรงพยาบาลที่เราคาดว่าจะเข้ารับการรักษาเมื่อเจ็บป่วย เพื่อเป็นข้อมูลในการประเมินค่ารักษาพยาบาลของเราในอนาคต
ตรวจสอบเงื่อนไขของการทำประกันภัยสุขภาพ
เมื่อเรารู้แล้วว่าเรามีสวัสดิการอะไร มีความเสี่ยงอะไรบ้าง และมีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเท่าไร ถึงเวลาที่เราจะต้องกางเงื่อนไขและความคุ้มครองของแต่ละบริษัทประกัน เพื่อหาประกันที่เหมาะสมกับเราเอง โดยมีหลักการพิจารณาเบื้องต้นดังนี้
- สำรวจค่าเบี้ยประกันภัยสุขภาพรายปี โดยพิจารณาจากรายได้ของเราในแต่ละปีว่าอยู่ที่เท่าไร ซึ่งในแต่ละปีเราควรจะจ่ายเงินค่าเบี้ยประกันภัยประมาณปีละ 10 – 15% เท่านั้น กล่าวคือ หากว่าเรามีรายได้เดือนละ 20,000 บาท ใน 1 ปี เรามีรายได้ทั้งหมด 240,000 บาท ค่าเบี้ยประกันภัยสุขภาพของเราควรจะอยู่ที่ปีละ 24,000 – 36,000 บาท หรือเดือนละประมาณ 2,000 – 3,000 บาท แล้วแต่ว่าเรามีภาระค่าใช้จ่ายอื่น ๆ มากแค่ไหน
อย่างไรก็ตาม ค่าเบี้ยประกันภัยสุขภาพของแต่ละคนจะแตกต่างกันไปตามอายุ และความเสี่ยงด้านสุขภาพ ยิ่งความเสี่ยงยิ่งมาก ค่าเบี้ยประกันก็จะยิ่งมากขึ้นตามไปด้วยในวงเงินความคุ้มครองเท่ากัน
2.สำรวจวงเงินประกัน ให้เราพิจารณาเงินค่ารักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในกรณีที่ร้ายแรงที่สุด เช่น การรักษาพยาบาลโรคร้ายแรง การเข้ารับการผ่าตัดด่วน หรือการรักษาในกรณีผู้ป่วยวิกฤต ซึ่งจะต้องใช้เงินค่ารักษาจำนวนมาก เพราะหากว่าวงเงินประกันคุ้มครองไม่เพียงพอก็อาจจะทำให้เราต้องจ่ายเงินส่วนต่างค่ารักษาพยาบาลเอง
3.สำรวจความคุ้มครอง ว่ามีความครอบคลุมในด้านใดบ้าง ประกันภัยสุขภาพบางฉบับไม่ครอบคลุมการเข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยนอก แต่หลายฉบับมีเงินชดเชยในกรณีเป็นผู้ป่วยใน เราจึงควรอ่านรายละเอียดต่าง ๆ ให้ดี โดยความคุ้มครองหลัก ๆ ของประกันสุขภาพจะประกอบไปด้วย การเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ค่าผ่าตัด ค่าแพทย์ ค่าการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยนอก ค่ารักษาพยาบาลฉุกเฉิน ค่าพยาบาลพิเศษในกรณีเป็นคำสั่งแพทย์ เงินชดเชยในการเป็นผู้ป่วยใน เป็นต้น
4.ตรวจสอบเงื่อนไขอื่น ๆ และสัญญาแนบท้าย ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญ โดยเฉพาะรายละเอียดของสัญญาแนบท้ายซึ่งเป็นความคุ้มครองเพิ่มเติม เพื่อการเลือกประกันภัยสุขภาพที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของเรามากที่สุด
นอกจากทั้ง 4 ข้อที่กล่าวมาแล้ว ยังมีเรื่องของการทำประกันชีวิตที่พ่วงเข้ามา ซึ่งหากว่าเรามีงบประมาณเพียงพอ เราอาจทำเป็นประกันภัยสุขภาพพ่วงกับประกันชีวิต ซึ่งก็จะเพิ่มความคุ้มครองในกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรขึ้นมาด้วย เหมาะสำหรับคนที่เป็นเสาหลักของครอบครัวจะได้ไม่ต้องห่วงคนข้างหลัง
การเลือกประกันภัยสุขภาพที่เหมาะสมกับเรา เป็นการวางแผนทางการเงินที่ทรงประสิทธิภาพอย่างหนึ่ง ซึ่งเราควรจะพิจารณาทั้งปัจจัยความเสี่ยงของเรา และความคุ้มครองของแผนประกันภัยสุขภาพ เพื่อให้ได้แผนการประกันภัยสุขภาพที่คุ้มครองครอบคลุม ราคาคุ้มค่า และไม่ทับซ้อนกับสวัสดิการที่เรามีอยู่แล้ว
หากท่านใดสนใจแผนการทำประกันภัยสุขภาพ อีซี่ อินชัวร์ ยินดีให้บริการให้คำปรึกษาพร้อมเปรียบเทียบความคุ้มครองที่เหมาะสม ท่านสามารถเช็กหรือสมัครประกันภัยสุขภาพได้ที่นี่ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทาง LINE: @easyinsure หรือ โทร. 0 2801 9000