เช็คเบี้ยประกันสุขภาพ ถูกแพงเพราะอะไร
ช่วงปลายปีแบบนี้ หลายคนคงกำลังมองหาและเช็คเบี้ยประกันสุขภาพที่คุ้มค่าจากแต่ละบริษัท แต่เมื่อได้ทำการเช็คราคาให้กับทุกคนในครอบครัวกลับพบว่า ค่าเบี้ยประกันของแต่ละคนไม่เท่ากัน ทำให้หลายคนสงสัยว่า ปัจจัยที่ทำให้เบี้ยประกันสุขภาพ “ถูก” หรือ “แพง” ขึ้นอยู่กับอะไร วันนี้อีซี่ อินชัวร์จะพาไปหาคำตอบกัน
จำนวนเงินความคุ้มครอง
การทำประกันสุขภาพในแต่ละแผน จะสามารถเลือกเพิ่มหรือลดความคุ้มครองได้ตามความเสี่ยงของแต่ละบุคคล โดยจะแบ่งความคุ้มครองออกเป็นทั้งหมด 7 กรณี ได้แก่
-
- กรณีเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลในฐานะผู้ป่วยใน (IPD) โดยให้ความคุ้มครองทั้งอาการเจ็บป่วยและจากอุบัติเหตุ ครอบคลุมทั้งค่าบริการทั่วไป ค่ารักษาพยาบาล ค่าห้อง ค่าอาหาร และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลฉุกเฉินอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุ
- กรณีผ่าตัด ให้ความคุ้มครองค่าใช้จ่ายจากการผ่าตัด และค่าปรึกษาแพทย์
- กรณีรักษาดูแลโดยแพทย์ ทั้งการเข้าดูอาการ และการให้คำปรึกษาความเชี่ยวชาญเฉพาะโรค
- กรณีเข้ารักษาในฐานะผู้ป่วยนอก (OPD) คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลจากการมารักษาตัวที่คลินิกหรือแผนกผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาล ซึ่งไม่ต้องเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล มักจะเป็นความเจ็บป่วยเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างการเป็นหวัด ปวดท้อง ท้องเสีย ตาอักเสบ
- กรณีคลอดบุตร ครอบคลุมการคลอดบุตรตามปกติ การผ่าท้องนอกมดลูก โดยมีระยะเวลาการรอคอยเฉลี่ย 280 วัน
- กรณีรักษาฟัน หรือเข้ารับบริการทันตกรรม ครอบคลุมการถอนฟัน ผ่าฟันคุด รักษาเงือก ขูดหินปูน ตรวจฟัน เอกซเรย์ฟัน รักษารากฟัน การใส่ฟันปลอมถอดได้ชนิดฐานและโครงพลาสติก
- กรณีใช้บริการพยาบาลพิเศษ ทั้งขณะอยู่โรงพยาบาลและหลังจากการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โดยมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น
นอกจากนี้ยังมีความคุ้มครองกรณีเป็นโรคร้ายแรงหรือมีค่าใช้จ่ายสูง เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ ที่จะต้องทำการรักษาอย่างต่อเนื่อง และมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ซึ่งแต่ละคนอาจจะเลือกความคุ้มครองที่แตกต่างกันออกไป เช่น บางคนอาจจะเลือกความคุ้มครองเฉพาะการเข้ารักษาตัวในฐานะผู้ป่วยใน แต่ไม่รวมการเข้ารักษาในฐานผู้ป่วยนอก ค่าเบี้ยประกันก็จะถูกกว่า เราจึงต้องเช็คเบี้ยประกันสุขภาพให้ดีว่าราคาเท่านี้คุ้มครองอะไรบ้าง
ไม่เพียงแค่ความคุ้มครองที่เป็นตัวกำหนดค่าเบี้ยประกัน แต่วงเงินความคุ้มครองก็เป็นตัวกำหนดเบี้ยประกันด้วยเช่นกัน แน่นอนว่าคนที่เลือกวงเงินคุ้มครองมากกว่า ก็จะยิ่งต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันที่สูงกว่าตามไปด้วย
อายุ
หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ค่าเบี้ยประกันแตกต่างกันก็คือ อายุของผู้ทำประกัน แต่ไม่ใช่ว่าอายุยิ่งน้อยยิ่งมีค่าประกันที่ถูกลง แต่อายุที่มีค่าเบี้ยประกันถูกที่สุด คือ ช่วงอายุ 20-40 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายเติบโตเต็มที่และมีความสมบูรณ์แข็งแรงมากที่สุด ส่วนช่วงอายุแรกเกิดจนถึงประมาณ 6 ปี และอายุ 50 ปีขึ้นไป จะเป็นช่วงเวลาที่เบี้ยประกันค่อนข้างสูง เนื่องจากเป็นวัยที่มักเจ็บป่วยออด ๆ แอด ๆ อยู่เสมอนั่นเอง ดังนั้น หากว่าเราลองเช็คเบี้ยประกันสุขภาพของเรากับของคุณพ่อคุณแม่ที่มีวงเงินและความคุ้มครองเหมือนกันทุกประการ แต่ค่าเบี้ยประกันของเราก็จะถูกกว่าของคุณพ่อคุณแม่ ด้วยอายุที่แตกต่างกันนั่นเอง
เพศ
เพศหญิงและเพศชาย แม้ว่าจะอายุเท่ากัน แต่ผู้หญิงมักจะต้องจ่ายเงินค่าประกันสุขภาพที่สูงกว่าเสมอ โดยผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะเจ็บป่วยมากกว่า และต้องอาศัยเวลาการพักฟื้นที่นานกว่าผู้ชายนั่นเอง
สุขภาพส่วนตัว
แม้ว่าจะไม่ต้องตรวจสุขภาพ แต่เมื่อทำประกันสุขภาพ การตอบคำถามสุขภาพเกี่ยวกับประวัติการรักษาพยาบาล โรคประจำตัว สภาพร่างกาย หรือความเสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บ ที่เป็นตัวกำหนดค่าเบี้ยประกันสุขภาพเช่นเดียวกัน และบางครั้งทางบริษัทประกันอาจจะไม่คุ้มครองโรคภัยไข้เจ็บบางโรคที่ผู้ทำประกันมีความเสี่ยงสูง ตัวอย่างเช่น หากเป็นโรคความดันโลหิตสูง ก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดในสมอง และโรคร้ายแรงอื่น ๆ ตามมา ซึ่งหากบริษัทประกันคุ้มครองโรคดังกล่าว เมื่อทำการเช็คเบี้ยประกันสุขภาพ ก็จะพบว่าจะมีราคาที่สูงกว่าคนอื่น ๆ หรือบางบริษัทอาจจะไม่รับทำประกันในกลุ่มโรคนี้เลย
ดังนั้น หากว่าใครที่สุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว ไม่เคยมีประวัติเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพูดง่าย ๆ ว่า มีความเสี่ยงน้อยกว่า ก็มีแนวโน้มที่จะจ่ายค่าเบี้ยประกันสุขภาพที่ถูกกว่านั่นเอง
อาชีพ
สิ่งหนึ่งที่เมื่อเราเช็คเบี้ยประกันสุขภาพแล้วพบว่า มีผลต่อค่าเบี้ยประกันอย่างที่คาดไม่ถึงก็คือ อาชีพ โดยบริษัทประกันจะแบ่งอาชีพต่าง ๆ ออกเป็นกลุ่มทั้งหมด 4 ชั้น เรียงตามความเสี่ยงด้านสุขภาพและความเจ็บป่วยที่แตกต่างกันออกไป ดังต่อไปนี้
อาชีพชั้น 1 เป็นอาชีพที่ทำงานประจำในสำนักงาน หรือใช้ชีวิตอยู่ในสำนักงาน ไม่ค่อยได้ออกไปพบความเสี่ยง ตัวอย่างเช่น ครู ข้าราชการ พนักงานบริษัทที่ประจำอยู่ในสำนักงานเท่านั้น พนักงานธนาคาร นักศึกษา นักเรียน
อาชีพชั้นที่ 2 เป็นอาชีพที่ทำงานกลางแจ้ง หรือใช้ชีวิตภายนอกสำนักงานเป็นส่วนใหญ่ แม้ว่าจะไม่ได้ทำงานเสี่ยงภัย แต่ก็ยังมีความเสี่ยงสูงกว่ากลุ่มแรก เช่น นักร้อง ช่างภาพ นักข่าว นักจัดสวน
อาชีพชั้นที่ 3 เป็นอาชีพที่เกี่ยวกับงานช่าง การผลิต ใช้เครื่องจักร หรือผู้ที่ต้องเดินทางอยู่ตลอดเวลา เช่น ช่างไฟฟ้า วิศวกร พนักงานโรงงาน มัคคุเทศก์
อาชีพชั้นที่ 4 เป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงสูงเป็นพิเศษ เช่น นักแสดงผาดโผน สตันต์แมน แน่นอนว่าคนที่ทำงานในสำนักงานหรืออาชีพชั้นที่ 1 จะมีค่าเบี้ยประกันที่ถูกที่สุด และนักแสดงผาดโผนจะมีค่าเบี้ยประกันแพงที่สุด
การดำเนินชีวิต
นอกจากที่กล่าวมาทั้งหมดแล้ว ไลฟ์สไตล์ของแต่ละคนก็มีผลต่อเบี้ยประกันสุขภาพเช่นเดียวกัน คนที่ดูแลสุขภาพ ออกกำลังกายเป็นประจำ ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ จะมีค่าเบี้ยประกันสุขภาพที่ถูกกว่าคนที่สูบบุหรี่ หรือดื่มเหล้า เบียร์ เป็นประจำ
ทั้งหมดนี้คือความเสี่ยงของแต่ละบุคคลที่เราอาจจะมองข้าม แต่บริษัทประกันจะพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพื่อยื่นเสนอความคุ้มครองที่เหมาะสมของแต่ละบุคคล หากสนใจแผนการทำประกันภัยสุขภาพ อีซี่ อินชัวร์ ยินดีให้บริการให้คำปรึกษา และเช็คเบี้ยประกันสุขภาพตามความเสี่ยง โดยคุณสามารถเช็คเบี้ยประกันและสมัครได้ที่นี่ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทาง LINE: @easyinsure หรือ โทร. 0 2801 9000