ภัยเงียบที่มาจากการกินอาหารไขมันสูง และของหวานหรือรสจัดมากเกินไปและเป็นเวลานาน และปล่อยให้ร่างกายมีไขมันสูง ใช่แล้วเรากำลังหมายถึง โรคเบาหวาน ที่เป็นโรคฮิตของคนไทยเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี และมีภาวะโรคอ้วนควบคู่ไปด้วย
โรคเบาหวานคืออะไร
คือโรคที่เกิดจากความผิดปกติของการทำงานฮอร์โมน อินสูลิน ( Insulin ) ไม่เพียงพอ เพราะโดยปกติแล้วร่างกายคนเราจำเป็นต้องมีอินสูลินเพื่อนำน้ำตาลในกระแสเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย และในภาวะที่อินสูลินมีความผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นการลดลงของปริมาณอินสูลินในร่างกาย หรือ อวัยวะในร่างกายตอบสนองต่ออินสูลินลดลง จะทำให้ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลที่อยู่ในกระแสเลือดไปใช้ได้ ทำให้เหลือปริมาณน้ำตาลในกระแสเลือดมากกว่าปกติ และหากน้ำตาลในกระแสเลือดสูงจะทำให้ไตดูดกลับน้ำตาลจากสารที่ถูกกรองจากหน่วยไตไปใช้ ดูดกลืนน้ำตาลได้ไม่หมด ส่งผลให้มีน้ำตาลรั่วออกมากับปัสสาวะ โดยในระยะยาวจะส่งผลให้เกิดการทำลายหลอดเลือด และนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานที่รุนแรงมากขึ้น
โรคเบาหวานมีกี่ชนิด
โรคเบาหวานชนิดที่ 1
พบในเด็กและผู้ที่อายุน้อยกว่า 30 ปี มักมีรูปร่างผอม ตับอ่อนที่ไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ ต้องรักษาด้วยการฉีดอินซูลิน เพราะถ้าไม่รักษาจะเกิดภาวะหมดสติจากน้ำตาลสูงและกรดคีโตนคั่งในเลือด
โรคเบาหวานชนิดที่ 2
ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 นี้พบได้ถึงร้อยละ 97 ในประเทศไทย มักมีรูปร่างอ้วน อายุมากกว่า 40 ปี ตับอ่อนยังพอผลิตอินซูลินได้ ในระยะแรกอาจรักษาได้ด้วยการควบคุมอาหารหรือยาเม็ดลดระดับน้ำตาล
โรคเบาหวานชนิดอื่นที่มีสาเหตุเฉพาะทางพันธุกรรม
คือโรคเบาหวานที่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม โรคของตับอ่อน ความผิดปกติของฮอร์โมน
โรคเบาหวานที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์
ผู้เป็นจะต้องไม่มีประวัติเป็นโรคเบาหวานมาก่อนตั้งครรภ์ ช่วงระหว่างการตั้งครรภ์จะมีฮอร์โมนจากรก ซึ่งมีฤทธิ์ต้านอินซูลินเป็นผลให้ร่างกายตอบสนองอินซูลินลดลง และถ้าไม่สามารถสร้างอินซูลินเพียงพอจะทำให้เกิดเป็นโรคเบาหวานในขณะตั้งครรภ์ได้ แต่หลังคลอดจะพบว่าโรคเบาหวานหายไป
ปัจจัยเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน
- ผู้ที่อ้วน
- มีโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และหลอดเลือด
- ผู้ที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป
- ระดับไขมันในเลือดผิดปกติ
- มีประวัติเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
- สตรีที่มีภาวะถุงน้ำรังไข่
การวินิจฉัยโรคเบาหวาน
- โดยการตรวจน้ำตาลหลังอดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง ว่าหากมีค่าระดับน้ำตาลมากกว่าหรือเท่ากับ 126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
- การตรวจน้ำตาล แล้วมีค่าระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่าหรือเท่ากับ 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ร่วมกับมีอาการของเบาหวาน เช่น ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำบ่อย ตามัว อ่อนเพลีย
- การทดสอบความทนต่อน้ำตาลกลูโคส จะทำในผู้ที่อดอาหารมาแล้วอย่างน้อย 8 ชั่วโมง ซึ่งแพทย์จะทำการเจาะเลือดเข็มที่ 1 ก่อนการดื่มสารละลายกลูโคส และทำการเจาะเลือดซ้ำหลังการดื่มสารละลาย หากพบว่ามีค่ามากกว่า 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรแสดงว่าเป็น โรคเบาหวาน
- การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดสะสม แพทย์จะพิจารณาปัจจัยอื่นร่วม เช่น อายุ โลหิตจาง หากตรวจได้มากกว่า 6.5% แสดงว่าเป็นโรคเบาหวาน
สาเหตุของโรคเบาหวาน
- โรคเบาหวานประเภทที่ 1 : เกิดจากตับอ่อนไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้
- โรคเบาหวานประเภทที่ 2 : เกิดจากการที่ตับอ่อนผลิตฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอ หรือ เกิดภาวการณ์ดื้ออินซูลิน
- โรคเบาหวานที่เกิดจากกรรมพันธุ์ : หรือแบบโมโนเจนิก และ โรคเบาหวานที่เกิดจากโรคชนิดอื่นอย่างเช่นโรคซิสติก ไฟโบรซิส
- โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ : เป็นเบาหวานที่พัฒนาขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์จากการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน ถึงแม้ว่า จะไม่เคยเป็นโรคเบาหวานมาก่อนก็ตาม
อาการของโรคเบาหวาน
ในระยะแรกโรคเบาหวานจะยังไม่แสดงอาการที่ผิดปกติ บางรายตรวจพบโรคเบาหวานเมื่อพบภาวะแทรกซ้อนซึ่งอาการของโรคเบาหวานแต่ละชนิดที่พบส่วนใหญ่คือ กระหายน้ำมาก ปากแห้ง ปัสสาวะบ่อย หิวย่อย น้ำหนักลด สายตาพร่ามัว รู้สึกเหนื่อยง่าย มีอาการชาที่มือและขา บาดแผลหายยาก เป็นต้น โดยอาการของโรคเบาหวานประเภทที่ 1 จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่โรคเบาหวานประเภทที่ 2 จะแสดงอาการแบบค่อยเป็นค่อยไป ส่วนอาการของโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์จะเกิดขึ้นในช่วงอายุประมาณ 24-28 สัปดาห์
จะทราบได้อย่างไรว่าเป็นโรคเบาหวาน
ให้สังเกตตัวเองจากอาการที่เด่นชัดของโรคเบาหวาน เช่น หิวบ่อยกินจุแต่ผอมลง ปัสสาวะมากและบ่อยครั้ง ตาพร่ามัว เป็นแผล คันตามผิวหนัง หากมีอาการมากกว่า 3 อย่างขึ้นไป ให้ไปปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจหาระดับน้ำตาลในเลือด น้ำตาลในปัสสาวะ โดยแพทย์จะวินิจฉัยเบาหวานที่ทำได้โดยการเจาะระดับน้ำตาลในเลือดเท่านั้น ถ้าระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่า 126 มก./ดล. ให้ทำซ้ำอีกครั้ง และถ้าผลออกมายังสูงกว่า 126 มก./ดล ถือว่าเป็น โรคเบาหวาน
การรักษาโรคเบาหวาน
- สำหรับการรักษาโรคเบาหวานประเภทที่ 1 ต้องได้รับฮอร์โมนอินซูลินเข้าไปทดแทนในร่างกายด้วยการฉีดยาเป็นหลัก คู่ไปกับการคุมอาหารและออกกำลังกายที่เหมาะสม
- สำหรับการรักษาโรคเบาหวานประเภทที่ 2 สามารถรักษาได้ด้วยการับประทานอาหารที่เหมาะสม การควบคุมน้ำหนัก แต่หากอาการไม่ดีขึ้นเลยแพทย์อาจให้ยาควบคู่ไปด้วยหรือฉีดอินซูลินเข้าไปทดแทน
- สำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ควรฝากครรภ์กับแพทย์ตั้งแต่ในระยะแรก พร้อมควบคุมอาหารและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
ภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน
เมื่อผู้ป่วยมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติในระยะเวลานาน ปริมาณน้ำตาลในร่างกายที่สูงจะส่งผลโดยตรงต่อหลอดเลือดทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ โดยจะเกิดภาวะอักเสบ และภาวะหลอดเลือดอุดตันได้ง่ายกว่าปกติ และยังส่งผลต่อภาวะภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยในภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรัง ทำให้น้ำตาลส่วนเกินไปเกาะกับเม็ดเลือดขาวทำให้การต่อสู้กับเชื้อโรคต่าง ๆ ลดลง ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย
การป้องกันโรคเบาหวาน
รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่โดยเลือกทานอาหารประเภทข้าว แป้งที่ไม่ขัดสี เช่นข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต ธัญพืชต่าง ๆ เลือกรับประทานเนื้อสัตว์ชนิดไขมันต่ำ ไม่ติดมัน เช่น เนื้อปลา ไข่ขาว เนื้ออกไก่ รับประทานผักประเภทใบ และระวังผักที่มีลักษณะเป็นหัว เช่นฟักทอง มันฝรั่ง มันแกว แห้ว หลีกเลี่ยงทานผลไม้ที่มีน้ำตาลสูง เช่น องุ่น ลำไย ลิ้นจี่ และควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และควรเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงทั้งหลาย เช่น
- ไม่สูบบุหรี่
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ไม่เครียด หรือวิตกกังวลจนเกินไป
- หมั่นไปตรวจระดับน้ำตาลในเลือด
หากเพื่อน ๆ ไม่อยากเป็น โรคเบาหวาน ก็เพียงแต่ดูแลตัวเองเป็นอย่างดีโดยเฉพาะเรื่องของการกินอาหารหลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูงและของหวานรวมถึงอาหารรสจัด อย่าปล่อยให้ตัวเองอ้วน กินอาหารครบ 5 หมู่และ ออกกำลังกายเป็นประจำ แต่สำหรับใครที่เป็นโรคเบาหวานแล้วก็ต้องทำการรักษาให้ต่อเนื่องเพื่อสุขภาพที่แข็งแรงกลับมา
และสำหรับผู้ที่มีกำลังน้อย ติดปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษา ทางออกที่ดีที่สุดคือการทำประกันสุขภาพไว้ล่วงหน้า เพราะการทำประกันสุขภาพเป็นเหมือนเกราะป้องกันภัยจากค่ารักษาที่ดีที่สุด จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษา ค่ารักษาพยาบาลให้กับเรา เพื่อที่จะได้มีเงินรักษาอย่างต่อเนื่อง และหากสนใจสามารถติดต่อ อีซี่อินชัวร์โบรกเกอร์ได้ ตลอด เพราะอีซี่อินชัวร์จะเสนอความคุ้มครองสูงสุดและเงื่อนไขที่ดีที่สุดให้ได้รับความคุ้มครองสูงสุดในราคาเบี้ยประกันที่ไม่แพง หรือจะเข้าไปชมรายละเอียดประกันสุขภาพก่อนได้ที่ www.easyinsure.co.th เราชาวอีซี่อินชัวร์ยินดีต้อนรับทุกท่านเสมอ
ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา , โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์