โรคมะเร็งตับ

โรคมะเร็งตับ เกิดจากอะไร กว่าจะรู้ว่าเป็นก็มักจะอยู่ในระยะสุดท้าย

มะเร็งตับ เป็นโรคมะเร็งที่พบได้เป็นอันดับต้น ๆ ของโรคมะเร็งที่เกิดในเพศชายและพบมากเป็นอันดับ 4 ของ ผู้ป่วยมะเร็ง มักพบในเพศชายอายุ 30-70 ปี มากกว่าเพศหญิงถึง 2-3 เท่า ซึ่งโรคนี้ถือว่าเป็นโรคที่น่ากลัวมาก เป็นสาเหตุทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้มาก เพราะผู้ป่วย โรคมะเร็งตับ ระยะแรกจะไม่แสดงอาการ กว่าจะรู้ว่าเป็นโรคมะเร็งตับก็มักจะอยู่ในระยะท้าย ๆ ไปซะแล้ว ประกันโรคร้ายแรงจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่ตระหนักถึงความเสี่ยง คนที่กังวล และสามารถนำไปใช้ลดหย่อนภาษีได้ด้วยล่ะ ถ้าเช่นนั้นวันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับโรคมะเร็งตับกันอย่างลึกซึ้ง เพื่อเป็นข้อมูลดี ๆ ในการดูแลรักษาสุขภาพของท่านกันดีกว่า

โรคมะเร็งตับ เกิดจากอะไร

ก่อนอื่นมารู้จักกับอวัยวะที่ชื่อว่า ตับ กันก่อนว่าคืออะไร มีหน้าที่อย่างไร ตับเป็นอวัยวะที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย มีน้ำหนักโดยประมาณ 2% ของน้ำหนักตัว ตับอยู่ที่บริเวณใต้ชายโครง ขวา แบ่งออกเป็น 2 กลีบ กลีบขวา และกลีบซ้าย โดยมีเส้นเลือดมาเลี้ยง 2 เส้นคือ Hepati Artery และ portal vein ตับมีหน้าที่สะสมอาหาร จำพวก น้ำตาล ไขมัน โปรตีน วิตามินไว้ให้ร่างกายใช้ และยังเป็นอวัยวะที่ทำลาย เองเสีย ตับยังทำให้หน้าที่สร้างโปรตีนที่เรียกว่า Albumin ซึ่งทำหน้าที่รักษาสมดุลของน้ำในเซลล์และเนื้อเยื่อ

เป็นโรคที่เกิดจากเซลล์ของตับมีลักษณะหรือการทำงานผิดปกติ กลายเป็นมะเร็งที่มีการแบ่งตัวของเซลล์ และแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น แล้วพัฒนากลายเป็นมะเร็งในที่สุด เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ เช่น ชนิด B ซึ่งพบได้บ่อยกว่า และ ชนิด C ที่ส่วนมากมักได้รับเชื้อจาก คุณแม่ตั้งแต่ที่เราคลอด หรืออาจติดจากสามี ภรรยา ซึ่งไวรัสตับอักเสบ B C สามารถติดต่อกันได้ แต่ที่สำคัญคือ มันติดต่อได้ง่ายกว่า เปอร์เซ็นต์การรับเชื้อแล้วจะ เป็นโรคมีสูงกว่ามาก ถ้าเรารับเชื้อเข้าไปในเลือด เชื้อไวรัสจะไปรวมตัวที่ตับทำให้ตับอักเสบ ส่วนจะมีอาการ หรือไม่ขึ้นอยู่กับภูมิต้านทานของแต่ละคน โดยชนิดของเนื้องอกตับ มีทั้งชนิดที่ไม่เป็นมะเร็งและชนิดที่เป็นมะเร็ง

 

โรคมะเร็งตับมีกี่ประเภท

1. เนื้องอกชนิดที่ไม่เป็นโรคมะเร็งตับ

  • Hemangioma – เป็นเนื้องอกที่เกิดจากหลอดเลือด ผู้ป่วยบางรายมีอาการเลือดออก บางรายไม่มีอาการ
  • Hepatic adenomas – เกิดจากการที่เซลล์ตับมารวมตัวกันเป็นก้อน ผู้ป่วยจะมีอาการแน่นท้อง หรือคลำเจอ ก้อนที่ท้อง
  • Focal nodula hyperplasia – เกิดจากการรวมตัวกันของเซลล์ของท่อน้ำดี และ เซลล์เนื้อตับ

2. เนื้องอกชนิดที่เป็นโรคมะเร็งตับ

  • Angiosarcomas – เกิดจากเซลล์ของหลอดเลือดในตับ พบมากในผู้ที่สัมผัสสาร Vinyl ที่ใช้ในอุตสาหกรรม พลาสติก
  • Cholangiocarcinoma – เป็นมะเร็งที่เกิดจากการแบ่งตัวของเซลล์ท่อน้ำดี พบได้ผู้ป่วยที่มีพยาธิใบไม้ในตับ นิ่วในถุงน้ำดี เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งชนิดนี้พบได้ร้อยละ 13 ของมะเร็งตับ อาการของผู้ป่วยคือจะปวดท้อง ตับโต ตาเหลือง
  • Hepatoblastoma – มะเร็งที่พบได้ในเด็ก ถ้าพบในระยะแรกการผ่าตัดจะได้ผลดี
  • Hepatocellular Carcinoma – มะเร็งตับที่พบบ่อยที่สุด เกิดจากเซลล์ของตับ

 

สาเหตุของโรคมะเร็งตับ

สาเหตุของการเป็นโรคมะเร็งตับมาจากหลายปัจจัย มะเร็งที่ตับที่เกิดขึ้นจากการที่ดีเอ็นเอในเซลล์ตับเกิดการ กลายพันธุ์จนทำให้โครงสร้างเซลล์เปลี่ยนแปลง ส่งผลให้เซลล์มีการเติบโตขึ้นอย่างผิดปกติและพัฒนาเป็นเนื้องอกในที่สุด ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ ของโรคมะเร็งตับมีดังต่อไปนี้

  • เพศชายพบอัตราการเป็นโรคมะเร็งตับ สูงกว่าในเพศหญิง
  • โรคตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสตับอักเสบบี และ ไวรัสตับอักเสบซี ที่สร้างความเสียหายต่อตัวตับอย่างถาวร จนกระทั่งทำให้ตับวายได้
  • โรคเบาหวาน
  • โรคตับที่สืบทอดทางพันธุกรรมที่พบได้ไม่บ่อยนัก เช่น ภาวะธาตุเหล็กในตับมากไป ถาวะทองแดงคั่งในร่างกาย
  • โรคตับแข็ง กว่าครึ่งของผู้ป่วยมะเร็งตับเป็นโรคตับแข็งร่วมด้วย
  • จากการสัมผัสสารอะฟลาท็อกซิน Aflatoxins  เป็นสารที่เกิดจากเชื้อราตามเมล็ดข้าวโพด หรือ ถั่วที่เก็บรักษา ได้ดีจนทำให้เกิดเชื้อรา ทำให้การได้รับสารอาหารปนเปื้อนเชื้อราจึงเสี่ยงต่อการได้รับสารพิษชนิดนี้และเกิดเป็นมะเร็งตับ
  • การบริโภคแอลกอฮอล์มากเกินและเป็นเวลานานติดต่อกัน จนทำให้เกิดอันตรายต่อตับอย่างต่อเนื้องอก และเสี่ยงต่อการพัฒนาเป็นเซลล์มะเร็งได้ในที่สุด
  • การสูบบุหรี่ ที่มีพฤติกรรมการสูบบุหรี่เป็นจำนวนมากและเป็นเวลานาน มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งตับได้มากขึ้น
  • การใช้อนาโบลิคเสตียรอยด์ Anabolic Steroids เป็นฮอร์โมนเพศชายที่นักกีฬามักใช้เพื่อเพิ่มกล้ามเนื้อ ซึ่งหากใช้เป็นเวลานาน เสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งตับได้
  • การได้รับสารเคมีอันตรายจากยากำจัดวัชพืช เช่นสารไวนิลคอลไรด์ Vinyl Chloride และสารหนู Arsenic ที่อาจพบได้ในน้ำที่ไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัย
  • เชื้อชาติ ส่วนใหญ่พบผู้ป่วยโรคตับแข็งที่เป็นชาวอเมริกัน, ชาวเอเชีย   และชาวเกาะแปซิฟิค

 

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งตับ

  • ไวรัสตับอักเสบบี และ ซี พบว่าหากเป็นเรื้อรังจะพบการเป็นโรคมะเร็งสูง
  • ตับแข็งจากสุรา
  • การได้รับสาร Aflatoxin เป็นสารเคมีที่ผลิตจากเชื้อราในอาหารพวกถั่ว ข้าวโพด ถั่วเหลือง
  • การได้รับสาร Vinyl Choloride
  • สารหนู 
  • ยาฮอร์โมนเพศชายที่รักษาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
  • การสูบบุหรี่

ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นโรคมะเร็งตับ คนที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งตับที่พบได้เป็นอันดับหนึ่งคือ ผู้ที่มีไวรัสตับอักเสบบี รองมากลุ่มคนไข้ที่เป็นตับแข็งจากไวรัสตับอักเสบซี หรือ จากแอลกอฮอล์ ต่อมากลุ่มภาวะน้ำหนักตัวเกิน เพราะความอ้วนจะมีภาวะไขมันพอกตับ และมีโอกาสพัฒนาเป็นภาวะตับแข็งตามมา รวมถึง

  1. เพศชาย อายุ 30 ปีขึ้นไป
  2. ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี
  3. ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
  4. การได้รับสารไนโตรซามีน
  5. ผู้ที่ได้รับสารพิษอะฟลาทอกซิน Aflatoxin ที่ปนเปื้อนในอาหาร
  6. เป็นโรคพยาธิใบไม้ในตับ
  7. ท่อน้ำดีในตับอักเสบเรื้อรัง
  8. โรคทางพันธุกรรมและเมตาบอลิกต่าง ๆ 
  9. การได้รับยาหรือสารเคมีบางชนิดเป็นเวลานาน

 

การคัดกรองโรคมะเร็งตับ

การคัดกรองหาโรคมะเร็งตับ แพทย์จะทำการตรวจเลือดหาค่า Alfa-fetoprotein AFP ร่วมกับการทำ Ultrasonography US โดยในการตรวจ AFP คัดกรองมะเร็งตับในผู้ป่วย Chronic Hhepatitis มี sensitivity และ Specificity ค่อนข้างต่ำ โดยมี 39-64% sensitivity และ 76-91% specificity รวมถึงมี 9-32% positive predictive value จึงต้องหาวิธีการตรวจอื่น ๆ ร่วมด้วย Alfa-fetoprotein AFP มีค่าปกติ 10-20 ng/ml และค่าที่ใช้วินิจฉัยมะเร็งตับ ถ้ามากกว่า 400 ng/ml ค่า cut-off level มีตั้งแต่ 20-100% แต่ยังไม่เป็นค่าที่เหมาะสมที่จะใช้เป็นเกณฑ์การตัดสินว่ามีความผิดปกติระดับใด จึงต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามหากพบว่าระดับ AFP มากกว่า 100 ng/ml  ก็สมควรได้รับการตรวจทางรังสีวิทยาต่อไป ซึ่งมีระยะเวลาการตรวจคัดกรองมะเร็งตับ ทุก ๆ 6 เดือน

 

การวินิจฉัยโรคมะเร็งตับ

เบื้องต้น แพทย์จะทำการซักประวัติและปัจจัยเสี่ยงของผู้ป่วย แล้วตรวจร่างกายด้วยการคลำสัมผัสหรือเคาะ ท้องเพื่อตรวจตับ จากนั้นจึงส่งตรวจเพิ่มเติมเพื่อการวินิจฉัยที่แม่นยำและชัดเจน ดังต่อไปนี

1. การถ่ายภาพตับ

เป็นวิธีวินิจฉัยด้วยเครื่องอัลตราซาวน์ ซีทีสแกน CT Scan หรือ เครื่องสร้างภาพด้วย สนามแม่เหล็กไฟฟ้า MRI เพื่อที่แพทย์สามารถมองเห็นตำแหน่งของมะเร็งและปริมาณของเลือดที่มาหล่อเลี้ยง มะเร็งได้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยวิธีนี้มักยากที่จะหาแผลหรือรอยโรคที่มีขนาดเล็กกว่า 1 เซนติเมตร

2. การตรวจเลือด Alfa-fetoprotein AFP

เป็นวิธีตรวจหาค่าโปรตีนที่ผลิตจากเนื้องอกตับ ซึ่งเปอร์เซ็นต์การ ตรวจพบได้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ โดยจะพบค่าเอเอฟพีในตัวผู้ป่วยสูงกว่าปกติ

3. การเจาะชิ้นเนื้อตับ Liver Biospy

แพทย์จะเก็บตัวอย่างจากก้อนที่สงสัยที่ตับเพื่อส่งตรวจว่าเป็นเซลล์มะเร็ง หรือไม่ กรณีที่ผลการตรวจทางแล็บระบุว่าเป็นโรคมะเร็งตับ ก็ไม่จำเป็นที่ต้องเจาะชิ้นเนื้อตับเพื่อตรวจอีก เพราะวิธีนี้เสี่ยงทำให้ติดเชื้อ มีเลือดออก หรือการแพร่เชื้อของมะเร็งไปยังส่วนอื่น ๆ ที่ถูกเข็มเจาะด้วย และการตรวจชนิดนี้ยังวินิจฉัยไม่ได้ แพทย์อาจต้องตรวจถ้วยการถ่ายภาพซ้ำอีกครั้ง

อาการของโรคมะเร็งตับ

 

อาการของโรคมะเร็งตับ

เมื่อมีอาการของโรคมะเร็งตับปรากฏขึ้น มักเข้าใจกันเองว่าเป็นโรคอื่น ๆ เช่น ปวดกระเพาะ ท้องอืด ไม่อยากรับประทานอาหาร ถุงน้ำดีอักเสบ รับประทานผักและผลไม้น้อย ไม่พักผ่อน กลั้นอุจจาระอยู่เสมอ แต่อาการประกอบของโรคมะเร็งตับมีดังต่อไปนี้

  1. ความอยากอาหารลดลงอย่างเห็นได้ชัด – ท้องอืด แน่นท้อง การย่อยอาหารไม่ปกติ คลื่นไส้ อาเจียน 
  2. ปวดท้องด้านบนขวา – ปวดบริเวณตับอย่างต่อเนื่อง หรือบางครั้งตัวเนื้องอกมีการลุกลามอาการเจ็บก็จะมีความรุนแรงขึ้น ซึ่งสามารถตรวจอาการเจ็บได้ด้วยเครื่องซีทีสแกน ซึ่งจะแสดงออกได้ถึงขนาด จำนวน ตำแหน่ง ขอบเขตให้เห็นได้อย่างชัดเจน  รวมถึงระดับของเลือดที่ไปเลี้ยงเนื้อร้าย และความสัมพันธ์กับท่อน้ำดีภายในตับ
  3. เลือดออก – อาการเลือดไหลทางจมูก ตามผิวหนัง
  4. ตัวเหลือง – มีอาการท้องบวม คันตามผิวหนัง
  5. อ่อนเพลีย – มีไข้ และบวมน้ำโดยไม่ทราบสาเหตุ
  6. คลำพบก้อนที่ชายโครง – ด้านซ้ายจากอาการม้ามโต

และเมื่อก้อนมะเร็งโตมากขึ้น ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย รู้สึกแน่นอึดอัดที่ลิ้นปี่ มีอาการปวดใต้ชายโครงด้านขวา บริเวณของตับ ซึ่งอาจปวดร้าวถึงไหล่ขวาใต้สะบักด้านขวา ผู้ป่วยจะเริ่มเบื่ออาหารทานไม่ค่อยได้ เพราะมีน้ำในท้องกดหรือเบียดทับกระเพาะอาหาร ทำให้น้ำหนักตัวลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งในบางรายจะมีอาการตาเหลือง ตัวเหลือง ปัสสาวะสีเหลืองเข้ม และอาจคลำได้ก้อนที่ใต้ชายโครงขวา ท้องบวม เท้าบวมทั้งสองข้าง หายใจเหนื่อยหอบ รวมถึงอาจมีไข้ต่ำ ๆ ร่วมด้วย

อาการโรคมะเร็งตับระยะแรก

อาการโรคมะเร็งตับในระยะแรก มักไม่แสดงอาการให้เห็น แต่เมื่อเป็นมากขึ้นอาจมีอาการดังต่อไปนี้

  • ปวดท้อง โดยเฉพาะบริเวณข้างขวาส่วนบน ในบางรายมีอาการปวดร้าวไปที่หลัง หรือ ไหล่
  • ท้องบวมขึ้น
  • เบื่ออาหาร
  • มีไข้โดยไม่ทราบสาเหตุ
  • น้ำหนักตัวลดลง โดยไม่ทราบสาเหตุ
  • คลำพบก้อนที่บริเวณตับ
  • ตัวเหลือง ตาเหลือง

 

โรคมะเร็งตับมีกี่ระยะ

  • ระยะที่หนึ่ง – ก้อนมะเร็งจะมีขนาดเล็กและมีเพียงก้อนเดียว
  • ระยะที่สอง – ก้อนมะเร็งเริ่มมีการลุกลามเข้าสู่หลอดเลือดในตับ หรือมีก้อนมะเร็งหลายก้อน แต่ก้อนมะเร็งยังมีขนาดเล็กอยู่
  • ระยะที่สาม – ก้อนมะเร็งเริ่มมีขนาดโตมากขึ้น หรือเริ่มมีการลุกลามเข้าเนื้อเยื่อข้างเคียงตับ หรือลุกลามเข้าหลอดเลือดดำใหญ่ในท้อง หรือลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้บริเวณตับ
  • ระยะที่สี่ – ก้อนมะเร็งแพร่กระจายตามกระแสเลือด เข้าสู่ตับกลีบอื่น ๆ และปอด แต่อาจเข้าสู่อวัยวะอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น กระดูก สมอง

 

การรักษาโรคมะเร็งตับ

แนวทางการรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคในแต่ระยะ การแพร่กระจายแต่ละขนาด และลักษณะของก้อนมะเร็ง รวมถึงอายุ สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย เบื้องต้นแพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาในแนวทางที่ดีและเหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วย 

กรณีพบโรคมะเร็งตับในระยะแรก

คือการตรวจคัดกรองพบโรคนี้ในกลุ่มที่ยังไม่มีอาการ แพทย์อาจให้การรักษาด้วยการผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออก ปลูกถ่ายตับ จะช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตอยู่ได้ยืนยาวหรือหายขาดได้เลย

1. การผ่าตัด Surgical Resection : เป็นวิธีที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยมะเร็งตับที่ไม่ได้เป็นโรคตับแข็ง และมีก้อนมะเร็งไม่ใหญ่เกินไป ไม่ได้มีการกัดกินหลอดเลือดดำ หรือมะเร็งอยู่เฉพาะที่ตับเท่านั้น ซึ่งผลการรักษาจะดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับสภาพการทำงานของตับในส่วนที่ไม่เป็นมะเร็ง พบว่าหากเป็นมะเร็งก้อนเดี่ยวและการทำงานของตับยังดีอยู่ ผู้ป่วยมีโอกาสรักษาหายรอดชีวิตที่ 5 ปี ได้ถึง 60-70% 

2. การปลูกถ่ายตับ Liver Transplantation : เป็นทางเลือกหนึ่งของการรักษา โรคมะเร็งตับ เป็นวิธีที่ยุ่งยากและต้องอาศัยความชำนาญของแพทย์ในการรักษา วิธีปลูกถ่ายตับเป็นทางเลือกสำหรับผู้ป่วยที่มีก้อนมะเร็งเดี่ยวขนาดเล็กกว่าหรือ 5 เซนติเมตร หรือผู้ป่วยที่มีก้อนมะเร็งขนาดเล็กหลายก้อน ซึ่งแต่ละก้อนมีขนาดเล็กหรือเท่ากับ 3 เซนติเมตร รวมถึงผู้ป่วยมีอายุน้อยกว่า 70 ปี การรักษาวิธีนี้จะมีโอกาสรอดที่ 5 ปีประมาณ 70%

กรณีพบโรคมะเร็งตับระยะสุดท้าย

ระยะสุดท้ายอยู่ได้กี่ปี หลาย ๆ คนคงจะตั้งคำถามนี้ในใจ ผู้ป่วยมักจะมีอาการที่ชัดเจน มักจะไม่สามารถรักษาหายได้ ซึ่งโดยเฉลี่ยผู้ป่วยจะเสียชีวิตภายใน 6-12 เดือน แต่ถ้าผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาอย่างดี มีโอกาสมีชีวิตอยู่ได้อีกยาวหลายปี ซึ่งการรักษาจะเพียงเพื่อควบคุมอาการของผู้ป่วยให้ทรงตัวได้นานที่สุด โดยการรักษามีหลายวิธี เช่น

1. การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ Palliative care : เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่นการให้เลือดในรายที่มีเลือดออก การให้ยาบรรเทาอาการปวด การใส่ท่อระบายน้ำดีในรายที่ภาวะอุดกั้นของทางเดินน้ำดี เพื่อบรรเทาอาการดีซ่าน

2. การให้ยาเคมีบำบัด Cancer Chemotherapy : หรือที่เราเรียกกันว่า ยาต้านมะเร็ง หรือ ยาคีโม เพื่อให้เซลล์มะเร็งหยุดยั้งการเจริญเติบโตหรือให้เซลล์มะเร็งตาย ซึ่งการรักษาวิธีนี้ผลออกมาไม่เป็นที่น่าพอใจสักเท่าไหร่ เพราะผู้ป่วยมักมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 6 เดือนหลังการรักษา จากการศึกษาพบว่ายาต้านมะเร็งที่ได้ผลดีที่สุดในการรักษามะเร็งตับคือ ดอกโซรูบิซิน Doxorubicin และ ซิลพลาติน Cisplatin 

3. การตัดหลอดเลือดไปเลี้ยงบริเวณก้อนมะเร็ง Hepatic Devascularization : เป็นหลักการที่มะเร็งจะได้รับเลือดเกือบทั้งหมดมาจากหลอดเลือดแดง การผูก Ligation หรือการอุด Embolization โดยการฉีดสาร Embolic เข้าหลอดเลือดแดง ก็จะทำให้ก้อนมะเร็งนั้นขาดเลือดไปหล่อเลี้ยงจนเซลล์มะเร็งตายไป เป็นการหยุดการเจริญเติบโตของมะเร็งได้เพียงชั่วคราว  แต่ในปัจจุบันเรานิยมใช้วิธีการอุด Embolization มากกว่าเพราะมีข้อดีคือ ไม่ต้องผ่าตัด และเป็นการตัดหลอดเลือดที่มาเลี้ยงก้อนมะเร็งได้อย่างจำเพาะเจาะจงมากกว่า โดยผู้ป่วยจะต้องไม่มีการแพร่กระจายของมะเร็งออกนอกตับและตับยังทำงานได้ดี ไม่มีการอุดตันของหลอดเลือดดำ และต้องไม่มีอาการดีซ่าน หรือท้องมาน

4. การรักษามะเร็งด้วยเข็มความร้อน Radiofrequency Ablation RFA : เป็นวิธีการรักษาที่เหมาะกับก้อนมะเร็งตับที่มีขนาดเล็กกว่า 4-5 เซนติเมตร ไม่สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด อาจใช้การรักษาร่วมกับการรักษาด้วยการฉายรังสี การให้ยาเคมีบำบัด เป็นต้น  โดยจะเป็นการรักษาด้วยการสอดเข็มขนาดเล็กเข้าในตับโดยให้ปลายเข็มวางอยู่ตำแหน่งของก้อนมะเร็ง อาศัยการนำทางด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ จากนั้นส่งพลังงานคลื่นความถี่วิทยุผ่านเข็มเข้าสู่ก้อนมะเร็ง ทำให้เกิดความร้อนภายในตัวก้อนมะเร็ง ที่อาจสูงถึง 50-100 องศาเซลเซียส ใช้เวลาประมาณ 20-40 นาที ขึ้นกับขนาดและจำนวนของก้อนมะเร็ง มีผลให้ก้อนมะเร็งตายลงทันที เสมือนกับการเผาก้อนมะเร็งในตับ มีผลกระทบต่อเนื้อตับส่วนดีน้อยที่สุด

5. การฉีดยาต้านมะเร็งและสารอุดตันหลอดเลือดแดง Chemoembolization : เป็นการรักษาแบบประคับประคองผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ด้วยการให้สารเคมีบำบัดเฉพาะที่ผ่านทางหลอดเลือดแดงเข้าสู่บริเวณที่มีโรคโดยตรงแล้วอุดกั้นหลอดเลือด เพื่อไม่ให้เลือดเลี้ยงก้อนมะเร็ง ก้อนมะเร็งเล็กลงและสามารถผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกมาได้ ทำให้มีอัตราการรักษาให้หายขาดเพิ่มขึ้น ซึ่งวิธีนี้เหมาะกับมะเร็งก้อนเดี่ยวและอยู่ในกลีบใดกลีบหนึ่งของตับ มะเร็งไม่ได้แพร่กระจายออกนอกตับ ส่วนยาต้านมะเร็งวิธีนี้คือ ดอกโซรูบิซิน Doxorubicin ไมโทมัยซิน Mitomycin และ ซิลพลาดิน Cisplatin 

6. การฉีดสารกัมมันตภาพรังสี Selective Internal Radiation Therapy SIRT : หรือ Radioembolization เป็นการรักษาแบบใหม่เหมาะกับมะเร็งตับที่มีการลุกลามเข้าในหลอดเลือดดำของตับ มีหลักการคล้ายกับ TOCE คือมีการสอดสายสวนเข้าในหลอดเลือดแดงของตับที่เลี้ยงก้อนมะเร็ง ทำการฉีดสารกัมมันตภาพรังสีที่เรียกว่า อิตเทรียม Yttrium เข้าไป สารนี้จะเปล่งรังสีชนิดเบต้าตรงก้อนมะเร็งและออกฤทธิ์ในช่วงไม่กี่ชั่วโมง และสลายตัวไปเองโดยไม่ตกค้างในร่างกาย แต่การรักษาวิธีนี้จะใช้จ่ายค่อนข้างสูงเพราะต้องนำเข้าสารกัมมันตภาพรังสีและใช้อุปกรณ์จากต่างประเทศเพื่อนำเข้ามาฉีดในผู้ป่วยเป็นราย ๆ รวมถึงมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก ต้องมีการตรวจการฉีดดูเส้นเลือดตับและทดสอบว่ารักษาได้โดยไม่มีผลข้างเคียง 

7. อิมมูนบำบัด Immunotherapy : การให้ยากระตุ้น T Cell ช่วยในการส่งเสริมให้ร่างกายสามาระฆ่าเซลล์มะเร็งได้ ยาที่ใช้คือ เลวาไมโซล Levamisole วัคซีนป้องกันวัณโรค BCG แต่จากรายงานไม่พบว่าการรักษาจะได้ผลเด่นชัดนัก 

8. ฮอร์โมนบำบัด Hormone Therapy : คือ เอสโตรเจนมีบทบาทต่อพยาธิกำเนิดในความผิดปกติของตับ การใช้เอสโตรเจนไปกระตุ้น Estrogen Receptor ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการแบ่งตัวเซลล์ แพทย์จึงนำหลักการนี้มาใช้ในการรักษามะเร็งตับ โดยฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน Progesterone ไปควบคุมแทน การรักษาได้ผล พบก้อนมะเร็งหดตัวลง 40% ทำให้มีผลช่วยในด้านคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

9. การฉีดแอลกอฮอล์เข้าก้อนมะเร็งโดยผ่านทางผิวหนัง Percutaneous Ethanol Injection PEI : เป็นการรักษาโดยการฉีดเอทานอล Ethanol เข้าก้อนมะเร็ง โดยจะทำให้เนื้อเยื่อที่เป็นมะเร็งถูกทำลายเป็นเนื้อตาย เป็นทางเลือกของการรักษามะเร็งก้อนเล็กที่ไม่สามารถผ่าตัดเอาออกได้ เหมาะสำหรับก้อนเดี่ยวที่กระจายอยู่หลายที่ แต่ละที่มีขนาดไม่เกิน 5 เซนติเมตร ต้องไม่มีการกระจายออกนอกตับ ผลการรักษาพบว่าผู้ป่วยประมาณ 60-80% มีชีวิตยืนยาวต่อไปหลังจากการรักษาได้นานถึง 3 ปี

10. การใช้ยารักษาตรงเป้า Targeted Therapy : เป็นการรักษาโดยการใช้ยาต้านมะเร็งที่มีฤทธิ์ต้านการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งอย่างจำเพาะเจาะจง เช่น โซราฟีนิบ Sorafenib ยานี้จำเป็นต้องใช้ร่วมกับการผ่าตัด รังสีรักษา หรือยาเคมีบำบัด เพื่อช่วยชะลอการลุกลามหรือการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง  ยานี้มีผลยับยั้งการแบ่งตัวหรือการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งและยับยั้งการสร้างหลอดเลือดใหม่เพื่อเลี้ยงเซลล์มะเร็ง การใช้ยาโซราฟีนิบ จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษาผู้ป่วย โรคมะเร็งตับ ที่ไม่สามารถรักการรักษาด้วยวิธีมาตรฐานได้

ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งตับ

ผลข้างเคียงขึ้นอยู่กับวิธีการรักษา และมีโอกาสเกิดได้สูงหากใช้หลายวิธีรักษา

  • การผ่าตัด – ผลข้างเคียงที่พบคือ การสูญเสียตับจนอาจต้องทำการปลูกถ่ายตับ แผลผ่าตัดเลือดออก การติดเชื้อ
  • การให้ยาเคมีบำบัด – อาการคลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง มีเลือดออกง่ายจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ การติดเชื้อ
  • การฉายรังสี – ผลต่อผิวหนังตรงส่วนที่ฉายรังสี และต่อเนื้อเยื่อเฉพาะส่วนที่ได้รับรังสี
  • การใช้ยารักษาตรงเป้า – การเกิดสิวขึ้นทั่วตัวรวมใบหน้า หรือ เกิดภาวะเลือดออกได้ง่าย แผลต่าง ๆจะสมานติดยาก และอาจทำให้ผนังลำไส้ทะลุได้

 

วิธีการป้องกันโรคมะเร็งตับ

  1. การป้องกันสามารถทำได้โดยการลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งตับ โรคตับแข็งเป็นโรคที่สัมพันธ์กับมะเร็งตับอย่างมาก จะทำให้เกิดแผลในตับ เสี่ยงต่อการพัฒนาเป็นเซลล์มะเร็งที่ตับได้สูง
  2. การป้องกัน โดยลดปัจจัยเสี่ยง เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ที่มากเกินไป การควบคุมน้ำหนัก ลดปริมาณไขมันที่บริโภค รวมถึงการใช้สารเคมีที่อาจเป็นอันตรายและเสี่ยงต่อโรคตับแข็งตามมา
  3. การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และ ไวรัสตับอักเสบซี เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับได้
  4. การฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ โดยสามารถฉีดได้ทุกเพศทุกวัย 
  5. การเข้ารับการตรวจมะเร็ง วิธีนี้ไม่อาจลดหรือป้องกันการเกิดมะเร็งตับได้ เพียงแต่ทำให้ผู้ป่วนรู้ตัวได้ในระยะต้น ๆ เพื่อการรักษาต่อไป
  6. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีสารอะฟลาทอกซิน Aflatoxin พวกถั่วลิสงบด ข้าวโพด หัวหอม พริกแห้ง กระเทียมขึ้นรา เพราะสารพิษพวกนี้มีความทนทานต่อความร้อน ไม่ถูกทำลายได้ง่าย
  7. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีสารไนโตรซามีน Nitrosamine เช่น อาหารพวกโปรตีนหมัก ปลาร้า ปลาส้ม หมูส้ม แหนม อาหารผสมดินประสิว เช่นไส้กรอก กุนเชียง เนื้อเค็ม ปลาเค็ม อาหารรมควัน เช่นไส้กรอกรมควัน ปลารมควัน แต่หากจะรับประทานต้องปลุกสุกก่อนเพราะสารนี้ถูกทำลายได้ด้วยความร้อน
  8. ไม่รับประทานปลาน้ำจืดแบบดิบ ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคพยาธิใบไม้ตับ
  9. ควรมีมาตรการป้องกันสารเคมีต่าง ๆ ไม่ให้ผู้บริโภคและคนงานได้รับสารเหล่านี้ เช่น สารหนู สารไวนิลคลอไรด์
  10. ควรฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีตั้งแต่แรกเกิด 
  11. รักษาสุขอนามัยพื้นฐานโดยการปฏิบัติตามหลักสุขบัญญัติแห่งชาติ 10 ประการ

 

จะเห็นได้ว่า โรคมะเร็งตับ สามารถป้องกันได้ด้วยวิธีที่ง่ายมากเลยคือ หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มากเกินไป รวมทั้งการสูบบุหรี่ การได้รับสารเคมีบางอย่าง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเป็นโรคมะเร็งตับ และถึงแม้ว่าจะมีวิธีการรักษาแต่ด้วยค่าใช้จ่ายในการรักษาที่สูง หากแต่ใครที่ไม่ได้สำรองเงินตรงนี้ไว้ก็อาจเป็นปัญหาของการไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ทางเลือกที่ดีและปลอดภัยที่สุดคือ การทำประกันสุขภาพ เตรียมไว้ก่อน เพราะการทำประกันสุขภาพจะช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาได้เป็นอย่างดี ทำให้ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องจนถึงขั้นหายได้ ซึ่งการทำประกันสุขภาพไม่ได้เป็นเรื่องยากเลย เพียงติดต่อเข้ามาที่ อีซี่อินชัวร์โบรกเกอร์ประกันภัย เรามีเจ้าหน้าที่ด้านประกันภัยต้อนรับและให้คำแนะนำด้านการทำประกันสุขภาพอย่างละเอียด เสนอความคุ้มครองสูงสุดให้กับท่านได้รับประโยชน์สูงสุด หากสนใจสามารถเข้าไปดูรายละเอียดที่ www.easyinsure.co.th ตลอด 24 ชั่วโมง 

 

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : www.bumrungrad.com www.medthai.com

Loading

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *