สำหรับคนที่เป็นผู้ป่วย โรคซึมเศร้า นับเป็นบุคคลที่น่าสงสาร เพราะคนที่ไม่เคยเป็นจะไม่รู้เลยว่าโรคซึมเศร้าอาการเป็นอย่างไร สาเหตุมาจากอะไร และวิธีรักษาอย่างไรให้หายขาด หรือไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าจะหายขาดได้ไหม เอาเป็นว่าวันนี้เรามาศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับโรคซึมเศร้ากันดีกว่า
โรคซึมเศร้า คืออะไร
โรคซึมเศร้า ทางการแพทย์เรียกว่า Clinical Depression เป็นความผิดปกติของการหลั่งสารเคมีในสมอง ที่มีผลกระทบต่อความนึกคิด อารมณ์ ความรู้สึก พฤติกรรมและสุขภาพกาย ที่เกิดจากความไม่สมดุลของสารสื่อประสาท 3 ชนิด คือ ซีโรไตนิน นอร์เอปิเนฟริน และโดปามีน ที่ส่งผลให้เกิดความผิดปกติทางอารมณ์ ทำให้พฤติกรรมของผู้ป่วยเปลี่ยนไปจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน กลายเป็นคนมองโลกในแง่ลบ เศร้า หม่นหมอง เก็บเนื้อเก็บตัว หดหู่ โดดเดี่ยว เบื่อหน่ายกับสิ่งที่เคยสนุกหรือสบายใจ
- เป็นภาวะความผิดปกติทางอารมณ์ที่ผู้ป่วยรู้สึกเศร้า ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ รู้สึกสิ้นหวัง หรือรู้สึกว่าตนเองด้อยค่า
- เป็นโรคที่ผู้ป่วยจะมีอารมณ์ที่ผิดปกติไปจากความเป็นจริง รู้สึกไม่มีความสุข รู้สึกหดหู่ หมดหวัง ไม่รื่นเริง จะมีอารมณ์ที่โศกเศร้าอยู่เป็นเวลานาน โดยโรคนี้จะมีผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจตลอดจนถึงการใช้ชีวิตประจำวัน
- เป็นการป่วยทั้งร่างกายและจิตใจ ความคิด ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่นการรับประทานอาหาร การพักผ่อนนอนหลับ ไม่สามารถประสานความคิด ความรู้สึกต่าง ๆ ได้เอง
- เป็นโรคที่ผู้ป่วยมีความรู้สึกที่ผิดหวัง รู้สึกเครียด อารมณ์เศร้าหมอง ความสูญเสีย ปัญหาอุปสรรคในชีวิต เป็นความรู้สึกที่คงอยู่เป็นระยะเวลานาน มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต
อาการของโรคซึมเศร้า
อาการของโรคซึมเศร้าและความรุนแรงที่จะเกิดกับผู้ป่วยมีความแตกต่างกัน บางคนแสดงอาการเศร้า เบื่อ แสดงอาการไม่กี่อย่าง ขณะบางคนแสดงอาการที่รุนแรงถึงขั้นคิดฆ่าตัวตาย แต่ผู้ป่วยบางคนอาจไม่แสดงออกอาการใด ๆ เลย ทั้งนี้หากสงสัยว่าจะเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ ให้สังเกตอาการดังต่อไปนี้ หากมีอย่างน้อย 5 อย่าง หรือมากกว่าติดต่อกันเป็นเวลา 14 วัน และมีอาการเหล่านี้อยู่เกือบทั้งวัน ถือว่าเข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้า
1. โรคซึมเศร้าส่งผลในด้านจิตใจและอารมณ์
- มีอาการซึมเศร้า สำหรับเด็กหรือวัยรุ่น อาจมีอาการหงุดหงิดมากกว่า
- ไม่มีสมาธิ หรือ ลังเลไปหมด ทำอะไรไม่สำเร็จ
- รู้สึกไร้ค่า รู้สึกว่าตัวเองไม่ดี โทษตัวเอง
- พูดช้า ทำอะไรช้าลง กระวนกระวาย ตัดสินใจช้าลง
- เบื่อ หมดความสนใจ หรือ หมดความสุขในการทำกิจกรรมต่าง ๆ
- มองโลกในแง่ร้าย รู้สึกว่าตนไร้ค่า และมีความรู้สึกผิด
- มีความคิดอยากตาย คิดทำร้ายตัวเอง
2. โรคซึมเศร้าส่งผลในด้านร่างกาย
- นอนไม่หลับ หรือ นอนแบบหลับ ๆ ตื่น ๆ หรือ หลับมากเกินไป
- เบื่ออาหาร หรือ บางครั้งกลับกินมากเกินไป
- เหนื่อยง่ายหรือไม่ค่อยมีแรงจะทำอะไรเลย
- ท้องผูก
- เจ็บป่วยตามร่างกายโดยไม่ทราบสาเหตุ
- เคลื่อนไหวหรือพูดจาช้ากว่าปกติ
3. โรคซึมเศร้าส่งผลในด้านพฤติกรรม
- ทำงานได้ไม่ดี หรือไม่มีประสิทธิภาพเหมือนก่อน
- หมดความสนใจในกิจกรรม หรืองานอดิเรกที่เคยสนใจ
- เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมน้อยลง
- ไม่ออกไปพบปะสังสรรค์กับเพื่อน
- อาจหันไปพึ่งสารเสพติด
โรคซึมเศร้ามีกี่ประเภท
โรคซึมเศร้ามีหลากหลายประเภท ทำให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าแต่ละคนมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป อารมณ์ที่หลากหลายของโรคซึมเศร้า ได้แก่
1. โรคซึมเศร้าแบบเมเจอร์ ดีเพรสชั่น (Major Depression)
โรคซึมเศร้าประเภทนี้ ผู้ป่วยจะมีอาการเศร้าสลดอย่างมาก จนไม่มีความสนใจในกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะช่วยทำให้กลับมามีความสุขเหมือนเดิม และจะมีความผิดปกติที่มีอารมณ์ซึมเศร้านานกว่า 2 สัปดาห์ ดังนั้นควรเริ่มรักษาแต่เนิ่น ๆ จะช่วยไม่ให้โรคซึมเศร้าประเภทนี้มีความรุนแรง ทั้งยังลดความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายอีก
2. โรคซึมเศร้าแบบดิสทีเมีย (Dysthymia Depression)
ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าประเภทนี้ จะมีอาการรุนแรงน้อยกว่าชนิดเมเจอร์ ดีเพรสชั่น แต่เป็นอย่างต่อเนื่องนานกว่า คือ จะมีอาการอย่างน้อย 2 ปี หรือ นานกว่า 5 ปี แต่อาการจะไม่รุนแรงถึงขนาดทำอะไรไม่ได้ เพราะผู้ป่วยจะมีอารมณ์ผิดปกติสลับไป
3. โรคซึมเศร้าแบบไบโพลาร์ ดิสออร์เดอร์ (Bipolar Disorder)
ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าประเภทนี้ จะมีอารมณ์ซึมเศร้าสลับกับอาการลิงโลด เป็นอารมณ์ที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง โดยซึมเศร้าชนิดนี้จะมีผลต่อการตัดสินใจและมักก่อให้เกิดปัญหา การใช้จ่ายสุรายสุร่าย หรือการตัดสินใจที่ผิด ๆ และบางครั้งอาจมีความคิดฆ่าตัวตายในช่วงที่มีอาการซึมเศร้าได้
โรคซึมเศร้ามีกี่ระดับ
1. อาการของโรคซึมเศร้าระยะแรก
จะแสดงอาการเบื่อ ท้อแท้ และเศร้าสลดอย่างมาก ซึ่งมีระยะเวลานานเกิน 2 สัปดาห์ สาเหตุเกิดจาก มีเหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง การสูญเสีย ผิดหวัง ความเครียดสะสมยาวนาน อาจมีอาการทางจิต เช่น หูแว่ว หวาดระแวง กลัว ขี้บ่น จุกจิกมากขึ้น
2. อาการของโรคซึมเศร้าเรื้อรัง
มีอาการรุนแรงน้อยกว่า แต่เป็นต่อเนื่องนานอย่างน้อย 2 ปี มักนานกว่า 5 ปี สาเหตุเกิดจาก ทุกข์ใจมายาวนาน แม้จัดการได้ในระดับหนึ่ง แต่ผู้ป่วยจะยังรู้สึกมีอาการที่ไม่มีความสุขมาเป็นเวลาหลายปี สุดท้ายจึงจบที่การเป็นโรคซึมเศร้าอย่างชัดเจน
สาเหตุของโรคซึมเศร้า
ขอบคุณภาพจาก med.mahidol.ac.th
โรคซึมเศร้ามีสาเหตุการเกิดที่ค่อนข้างซับซ้อนหลากหลาย ซึ่งสาเหตุของโรคซึมเศร้าแต่ละคนอาจแตกต่างกันไป เช่น พันธุกรรม หรือพื้นฐานที่มีประวัติสมาชิกในครอบครัวเคยเป็นโรคซึมเศร้า หรือ มีลักษณะนิสัยที่เป็นคนอ่อนไหวง่าย คิดมาก สภาพแวดล้อมตั้งแต่เด็กจนโต จากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ ความผิดปกติในสมอง เช่น สารสื่อประสาท ฮอร์โมนและวงจรระบบประสาท สภาพจิตใจของแต่ละคนอันเนื่องมาจากการเลี้ยงดู เหตุการณ์ร้ายในชีวิต ส่งผลต่อกระบวนการคิดและมุมมองต่อตนเอง เช่นมองโลกในแง่ร้าย สิ้นหวัง และยังรวมถึง การทำงานของสมอง พันธุกรรม บุคลิกภาพ อาการต่างๆ
1. โรคซึมเศร้าจากการทำงานของสมอง
จากการทำงานของสมองที่ผิดปกติ เป็นสาเหตุหนึ่งของโรคซึมเศร้า เนื่องจากสารสื่อปะสารในสมองที่ไม่สมดุลกัน เป็นการเชื่อมต่อ การเจริญเติบโตของเซลล์ประสาท และการทำงานของวงจรประสาทที่ส่งผลต่อการเกิดภาวะซึมเศร้า รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ อีกเช่น ลักษณะนิสัย พันธุกรรม ความเครียด หรืออาการที่เจ็บป่วย หรือบุคลิกภาพ
2. โรคซึมเศร้าจากบุคลิกภาพและลักษณะนิสัย
ปัจจัยที่มีส่วนสำคัญและเสียงต่อภาวะซึมเศร้า คือลักษณะนิสัยเฉพาะตัว ซึ่งทัศนคติและมุมองต่อโลกจะส่งผลต่อความรู้สึกของเรา จึงเป็นไปได้ที่ผู้ที่มีความมั่นใจในตัวเองต่ำ เกิดความวิตกกังวลง่าย ชื่นชอบความสมบูรณ์แบบ อ่อนไหวต่อการวิจารณ์ หรือชอบตำหนิตัวเอง มีแนวโน้มเกิดภาวะซึมเศร้าได้ง่ายกว่า
3. โรคซึมเศร้าจากพันธุกรรม
พันธุกรรม มีหน้าที่คอยควบคุมส่วนต่าง ๆ ของร่างกายและสมอง ซึ่งอาจถ่ายทอดภาวะซึมเศร้าจากรุ่นหนึ่งไปยังรุ่นหนึ่งได้ การทำงานของพันธุกรรมที่ผิดแปลกทำให้ชีววิทยาในร่างกายเปลี่ยนแปลงไปด้วย นำไปสู่ภาวะที่มาเสถียรทางอารมณ์ หรือ มีการพัฒนาไปเป็นภาวะซึมเศร้าได้ แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้บอกว่าถ้ามีบรรพบุรุษเป็นโรคซึมเศร้าแล้วที่จะทำให้ลูกหลานเป็นไปด้วย ทั้งนี้ยังต้องขึ้นกับปัจจัยอื่น ๆ อีกด้วย
4. โรคซึมเศร้าจากอาการเจ็บป่วย
ภาวะการณ์ขาดฮอร์โมนไทรอยด์ ส่งผลต่อภาวะซึมเศร้าได้ ผู้ป่วยจะมีระดับฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำเกิน จนทำให้เหนื่อยล้าและเข้าสู่ภาวะซึมเศร้าได้ รวมถึงผู้ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจกว่าครึ่งกล่าวว่าตนเคยมีอาการซึมเศร้า โดยส่งผลให้ผู้ป่วยทำให้ฟื้นตัวช้า มีปัญหาหัวใจและหลอดเลือดได้ในอนาคต และมีความเสี่ยงสูงที่จะเสียชีวิตภายใน 6 เดือน และยังมีผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน อัลไซเมอร์ หลอดเลือดในสมองแตก เอสแอลอี มะเร็ง เบาหวาน ที่ผู้ป่วยโรคเรื้อรังเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้าได้
5. โรคซึมเศร้าจากเหตุการณ์ในชีวิต
คนเรามีชีวิตที่แตกต่างกัน ลักษณะความเป็นอยู่ก็ต่างกัน การเผชิญกับสิ่งแวดล้อม ปัญหา ต่าง ๆ ไม่เท่ากัน เช่น การตกงาน การหย่าร้าง การสูญเสียในเรื่องราวต่าง ๆ ทำให้เกิดการกระทบทางด้านจิตใจ นำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้เช่นกัน โดยเฉพาะหากมีความเสี่ยงด้านพันธุกรรมที่เป็นตัวกำหนดลักษณะนิสัยในทางอ่อนไหวต่อสิ่งกระทบ ความเครียด ความสิ้นหวัง ที่จะพัฒนาไปสู่การมีภาวะซึมเศร้าได้
6. โรคซึมเศร้าหลังคลอด
ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด เป็นปัญหาสุขภาพจิตที่คุณแม่บางคนอาจต้องประสบหลังคลอดบุตร โดยมีอาการวิตกกังวล อ่อนเพลียมากจนไม่สามารถเลี้ยงลูกหรือทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ หากมีอาการรุนแรงชนิดที่เรียกว่า มีความคิดทำร้ายตัวเองหรือลูกน้อย คนรอบข้างควรรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที ซึ่งสาเหตุของภาวะหรือโรคซึมเศร้าหลังคลอด อาจเกิดขึ้นจากปัจจัยหลายอย่าง ส่วนใหญ่เป็นปัจจัยที่คุณแม่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น การเปลี่ยนแปลงของฮฮร์โมน อารมณ์ พันธุกรรม ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ทางจิตเวช เพื่อไม่ให้ไปถึงขั้นรุนแรงที่อาจทำให้คิดถึงขั้นฆ่าตัวตายได้
7. โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ
โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ เป็นโรคซึมเศร้าที่เกิดในผู้สูงอายุระหว่างอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งมีลักษณะที่ตั้งแต่เศร้าเล็กน้อย อารมณ์ไม่แจ่มใส มีอาการหลอนทางจิต ความสามารถในการดำเนินชีวิตลดลง ซึ่งสาเหตุมาจากโรคทางจิตเวช ที่เกิดจากความผิดปกติของสารสื่อประสารในสมองเป็นหลัก หรือสาเหตุจากปัจจัยกระตุ้นทั้งทางกาย จิต และสังคม ซึ่งโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุควรได้รับการรักษาด้วยแพทย์ทางจิตเวช รวมถึงลูกหลานควรใส่ใจ อย่าให้ท่านต้องอยู่เพียงลำพังคนเดียว ดูแลและให้ความสำคัญกับท่านเสมอ หากิจกรรมให้ท่านทำ เพื่อท่านจะได้มีการใช้ความคิด ขยับเนื้อขยับตัว รวมถึง หมั่นชมท่านบ่อย ๆ เพื่อให้ท่านรู้สึกว่าตัวเองมีความสำคัญ เป็นเสาหลักให้กับลูกหลานได้
8. โรคซึมเศร้าเพราะครอบครัว
ครอบครัวเป็นสถาบันที่สำคัญ เป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน เป็นสถาบันการขัดเกลาทางสังคม สร้างคุณค่าทางชีวิต ของคนในครอบครัว เป็นต้นแบบของลูก ๆ ได้เรียนรู้ในการดำรงชีวิตและใช้ชีวิตอยู่ในสังคม แต่หากครอบครัวที่มีพ่อแม่ทะเลาะกันต่อหน้าลูก ปาข้าวของใส่กัน การทุบตี โต้ตอบกันอย่างรุนแรง หรือแม้แต่การตั้งกฎระเบียบในบ้านที่เคร่งครัดจนเกินไป ห้ามลูกทำกิจกรรมต่าง ๆ การถูกบังคับให้ลูกทำในสิ่งที่ไม่อยากทำ สิ่งเหล่านี้อาจส่งผลให้ลูก หรือคนในครอบครัวได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจและอารมณ์ที่รุนแรงและหากได้รับเป็นเวลานาน อาจนำไปสู่การเป็นโรคซึมเศร้าได้
9. โรคซึมเศร้าเรียกร้องความสนใจ
โรคซึมเศร้าที่เรียกร้องความสนใจ เกิดจากการมีพฤติกรรมหรือเรียกร้องอะไรบางอย่าง ที่ทำให้คนเหล่านี้เข้าใจผิดว่าโรคเหล่านี้ไม่มีจริง เป็นเพียงข้ออ้างอันชอบธรรมในการกระทำพฤติกรรมแย่ ๆ หรือ ทำเพื่อเรียกร้องความสนใจจากคนอื่นเพียงเท่านั้น ซึ่งความจริงคนเหล่านั้นอาจไม่ได้เป็นโรคซึมเศร้าก็ได้ ซึ่งหลาย ๆ ครั้งที่โรคซึมเศร้าถูกนำไปผูกติดกับพฤติกรรมใดพฤติกรรมหนึ่ง จนทำให้คนที่แสดงออกถึงพฤติกรรมเหล่านั้นได้รับการตราหน้าว่าเป็นผู้ป่วย หรือเข้าใจผิดไปเองว่าตนเองป่วยโดยไม่ได้รับการตรวจจากจิตแพทย์
วิธีรักษาโรคซึมเศร้า
โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้ ซึ่งการรักษาโรคซึมเศร้าที่สำคัญที่สุดคือการปฏิบัติตามแผนการรักษาของแพทย์ เพื่อให้อาการบรรเทาลงจนหายดีในที่สุด ซึ่งการรักษานั้นมีหลากหลายวิธี เช่นการทานยา การปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต การให้ความร่วมมือกับนักจิตบำบัดในการรักษา
1. วิธีรักษาโรคซึมเศร้าด้วยตนเอง
นอกจากการรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์หรือการพบแพทย์เพื่อทำการรักษาแล้ว ผู้ป่วยควรที่จะเรียนรู้และฝึกรับมือกับโรคซึมเศร้าด้วยตนเองได้อีกด้วย โดยผู้ป่วยต้องปฏิบัติตามคำแนะนะนำดังนี้
- ดูแลสุขภาพร่างกายของตัวเองให้แข็งแรง ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์และสารเสพติดทุกชนิด
- เรียนรู้วิธีผ่อนคลายความเครียด โดยรับมือกับอาการที่เกิดขึ้นเมื่อต้องเผชิญสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียด เช่น การหางานอดิเรกทำ การนั่งสมาธิ การผ่อนคลายกล้ามเนื้อ การเล่นโยคะ รำไทเก็ก เป็นต้น
- บริหารเวลาในแต่ละวันให้เหมาะสม โดยวางแผนสิ่งที่ต้องทำในแต่ละวันเอย่างเป็นระเบียบ ควรเรียนรู้ที่จะปฏิเสธภาระหรือความรับผิดชอบที่เกินกำลัง
- หลีกเลี่ยงการตัดสินใจเรื่องสำคัญ ขณะที่กำลังเผชิญภาวะตกต่ำทางอารมณ์
- อย่าแยกตัวออกจากสังคม พยายามหากิจกรรมทำกับครอบครัว เพื่อนฝูง ร่วมกลุ่มบำบัดโรคซึมเศร้าเพื่อแบ่งปันเรื่องราวความรู้สึกซึ่งกันและกัน
- หมั่นพูดคุยปรึกษาถึงปัญหาต่าง ๆ ที่กำลังเผชิญอยู่กับครอบครัว เพื่อนสนิท ญาติสนิท เป็นต้น
2. วิธีรักษาโรคซึมเศร้าโดยการหาหมอ
ปัจจุบันการรักษาโรคซึมเศร้ามีด้วยกัน 3 วิธีหลัก ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์ว่าผู้ป่วยเหมาะกับวิธีใด และใช้การรักษาควบคู่กันไปมากกว่าหนึ่งวิธีก็เป็นได้
2.1 การใช้ยาต้านเศร้า Antidepressants
ช่วยในการปรับสมดุลสารเคมีในสมองในเรื่องของการควบคุมอารมณ์และความเครียด ซึ่งยาต้านเศร้ามีหลายชนิด แพทย์จะให้ยาต้านเศร้าตามอาการของผู้ป่วยแต่ละรายเพื่อการรักษาที่ดีและปลอดภัยที่สุด มีผลข้างเคียงน้อยที่สุด แพทย์จะเริ่มด้วยการสั่งจ่ายยากลุ่ม SSRIs ซึ่งปลอดภัยและมีผลข้างเคียงน้อยกว่ายาต้านซึมเศร้าชนิดอื่น ยาต้านซึมเศร้ากลุ่ม SSRIs ได้แก่ ฟลูออกวิทีน Fluoxetine พาร๊อกซีทีน Paroxetine เอสไซตาโลแพรม Escitalopram
ทั้งนี้การให้ยาให้ได้ผลอาจใช้เวลานานประมาณ 3-4 สัปดาห์ และไม่ควรหยุดยาเองเมื่ออาการดีขึ้น และยาอาจมีผลข้างเคียงทำให้ผู้ป่วยมีความคิดหรือเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายใน 2-3 สัปดาห์แรกที่ได้รับยา ซึ่งผู้ป่วยที่อายุน้อยต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด และแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยอาการของผู้ป่วยและจะสั่งให้หยุดยาหรือไม่นั้น ต้องดูผลการตอบรับจากผู้ป่วยอีกครั้ง
2.2 จิตบำบัด Psychotherapy
คือการทำจิตบำบัดที่เรียกได้ว่าได้ผลดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้าน้อยถึงปานกลาง ซึ่งสาเหตุและอาการของผู้ป่วยแต่ละรายจะแตกต่างกันออกไปเช่น
- บำบัดความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล Interpersonal Therapy : IPT เพื่อการมุ่งไปที่การบำบัดความสัมพันธ์ของผู้ป่วยกับบุคคลอื่น ที่อาจเป็นเหตุของอาการซึมเศร้าได้ เช่นการสื่อสารที่มีปัญหา
- บำบัดเพื่อช่วยปรับทัศนคติต่อสิ่งแวดล้อมและปฏิสัมพันธ์ Cognitive Behavioral Therapy : CBT เพื่อให้ผู้ป่วยเปลี่ยนความคิดในแง่ลบไปในทางที่ดีขึ้น เริ่มจากการมองสิ่งต่าง ๆ รอบตัวในแง่ดี ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยตระหนักถึงสิ่งที่ทำให้คนเกิดภาวะซึมเศร้าแล้วเปลี่ยนพฤติกรรมให้เลิกเศร้าได้
- การช่วยให้สามารถจัดการกับภาวะความตึงเครียดในชีวิต Problem-Solving Therapy : PST เป็นวิธีบำบัดที่ใช้ได้ผลกับกลุ่มผู้สูงอายุที่มีภาวะซึมเศร้า ให้ผู้ป่วยมองเห็นปัญหาและทางแก้อย่างตรงตามความเป็นจริง
- การให้คำปรึกษา Counselling บำบัดเพื่อให้ผู้ป่วยคิดทบทวนถึงปัญหาในชีวิตที่ได้พบเจอ และหาแนวทางใหม่ ๆ เพื่อรับมือกับปัญหา โดยมีผู้ให้คำปรึกษาเป็นผู้คอยสนับสนุนในการหาทางแก้ไข แต่ไม่ใช่การบอกให้ทำ
2.3 การรักษาด้วยการกระตุ้นเซลล์สมอง Brain Stimulation Therapies
สำหรับการรักษาผู้ป่วยซึมเศร้าในระดับที่รุนแรงขึ้น เช่นผู้ป่วยที่คิดฆ่าตัวตาย ไม่สามารถรักษาโดยรอจนกว่ายาต้านซึมเศร้าจะออกฤทธิ์ได้ การรักษาด้วยการกระตุ้นสมองและเส้นประสาทจึงกลายเป็นวิธีที่ปลอดภัยได้ผลที่สุด
- การบำบัดช็อคด้วยไฟฟ้า Electroconvulsive Therapy : ECT คือการรักษาด้วยการให้ยาสลบแล้วใช้กระแสไฟฟ้าผ่านเข้าสู่สมองผู้ป่วย ทางการแพทย์เชื่อว่ากระแสไฟฟ้าจะส่งผลต่อการทำงานและการเกิดสารนิวโรทรานสมิทเทอรส์ในสมอง ช่วยให้ผู้ป่วยซึมเศร้ารุนแรงได้ผ่อนคลายลงได้ทันที ทั้งนี้การบำบัดด้วยการช็อคไฟฟ้าอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น อาการปวดศีรษะ หรือสูญเสียความทรงจำชั่วคราว
- การกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า Transcranial Magnetic Stimulation : TMS อีกหนึ่งวิธีใหม่ เป็นการใช้ขดลวดคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าวางบนศีรษะผู้ป่วย ส่งพลังงานคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ากำลังอ่อนไปกระตุ้นเซลล์ประสาทส่วนที่ควบคุมอารมณ์ปกติและเศร้า
3. ยารักษาโรคซึมเศร้า
เป็นยาในกลุ่ม Selective Serotonin Reuptake Inhibitors : SSRI ยานี้มีผลต่อสารเคมีในสมองใช้รักษาโรคซึมเศร้า โรคกลัว วิตกกังวล โรคยั้งคิดยั้งทำ
- ยา Fluoxetine ใช้รักษาโรคซึมเศร้า Depression รักษาโรคย้ำคิดย้ำทำ Obsessive-compulsive Disorder และรักษาโรคหวาดกลัว Panic Attack
- ยากลุ่มต้านเศร้า Antidepressants ยากลุ่มนี้มีหลากหลายชนิด พบอาการข้างเคียงลดลงและมีจำนวนผู้ป่วยที่ตอบสนองต่อการรักษาเพิ่มมากขึ้น
- ยากลุ่มอื่น ๆ Other Medications ยากลุ่มที่นำมาใช่ร่วมเพื่อการรักษาภาวะซึมเศร้าในบางราย เช่นยากลุ่มคลายกังวล ยากลุ่มสมาธิ ยากลุ่มควบคุมอารมณ์
โรคซึมเศร้ารักษาที่ไหน
การรักษาสามารถรักษาโดยเลือกโรงพยาบาลที่ใกล้บ้านเพื่อสะดวกในการเดินทาง เพราะการรักษาต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยใช้สิทธิบัตรทอง ประกันสังคม สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ
- โรงพยาบาลรัฐบาลในกรุงเทพฯ และปริมณฑล
- โรงพยาบาลเอกชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล
- สถาบันประสาทวิทยา
- สถาบันธัญญารักษ์
- สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์
- สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา
- สถาบันเวชศาสตร์การบิน กองทัพอากาศ
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต
- คณะแพทยศาสตร์ วชิรพยาบาล
โรคซึมเศร้ารักษาหายไหม
โรคซึมเศร้าเป็นโรคทางจิตเวชที่สามารถรักษาให้หายได้ เพราะการรักษาโรคซึมเศร้าที่สำคัญที่สุดคือการปฏิบัติตามแผนการรักษาของแพทย์ เพื่ออาการบรรเทาจนดีขึ้นและหายไปในที่สุด โดยผู้ป่วยต้องรับประทานยาตามแพทย์สั่งให้ครบถ้วน รวมถึงเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต พฤติกรรมต่าง ๆ และให้ความร่วมมือกับนักจิตบำบัดในการรักษา ปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์ และนักจิตบำบัดทุกประการ และมีจิตใจพร้อมที่จะทำการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพราะการรักษาค่อนข้างใช้เวลาในการรักษานานพอสมควร ผู้ป่วยต้องมีความอดทน รวมถึงกำลังใจจากครอบครัวก็มีส่วนสำคัญมากในการให้กำลังใจผู้ป่วยอยู่เสมอ
วิธีการดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
ก่อนอื่นผู้ที่จะมาดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ต้องทำความเข้าใจกับโรคซึมเศร้าอย่างละเอียดเสียก่อน และ ต้องมีความอดทนต่อสภาพต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากผู้ป่วยได้ เช่น ผู้ป่วยที่ไม่ให้ความร่วมมือ ผู้ป่วยที่ใช้ความรุนแรงในการโต้ตอบ สิ่งเหล่านี้ผู้ที่จะมาดูแลต้องทำความเข้าใจและมีความอดทนอย่างสูง สำหรับวิธีการดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีดังนี้
- เข้าหาและแสดงความยินดีที่จะช่วยเหลือ พร้อมรับฟังปัญหาต่าง ๆ อย่างตั้งใจและเข้าใจ
- ทำความเข้าใจและหาความรู้เกี่ยวกับโรคซึมเศร้าให้มากขึ้น
- อาการจะดีขึ้นใน 2-3 สัปดาห์ แต่ต้องดูแลให้ได้รับยาครบตามที่แพทย์สั่ง ด้วยความอดทน
- ดูแลให้ได้กินและนอนเป็นเวลาทุกวัน
- พาไปพบจิตแพทย์ และไปเป็นเพื่อนเสมอเมื่อถึงวันที่ต้องพบคุณหมอ
- ชวนออกกำลังกาย หรือชวนไปร่วมกิจกรรมในชุมชน
- หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรงถึงขั้นไม่อยากมีชีวิตอยู่ หรืออยากทำร้ายตนเอง คุณต้องอย่างปล่อยให้อยู่คนเดียว แต่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง
- เก็บสิ่งของที่เป็นอันตรายไม่ให้วางในบ้าน เช่น มีด เชือก อาวุธปืน ยาฆ่าแมลง ยาศัตรูพืช
สัญลักษณ์โรคซึมเศร้า
มีการใช้ หมาดำ เป็นสัญลักษณ์แทนโรคซึมเศร้ากันมานานมาก ไม่แน่ชัดว่าเริ่มจากไหน บ้างก็บอกว่าจากสงครามโลกครั้งที่สอง นายกของอังกฤษ วินส์ตัน เชอร์ชิล ที่เคยใช้คำเปรียบเปรยภาวะซึมเศร้าของตัวเองกับหมาดำ และในปัจจุบันคนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า บางคนก็ใช้สัญลักษณ์นี้ในการสื่อให้คนรอบข้างรับรู้ว่าเขากำลังประสบปัญหาอะไรอยู่ ดังตัวอย่างจากนักร้องเกาหลีจงฮยอนที่เสียชีวิตเพราะเป็นโรคซึมเศร้า และเขาก็มีรอยสักที่แสดงสัญลักษณ์เป็นหมาดำไว้บนร่างกายของเขา
โรคซึมเศร้าประกันสังคมคุ้มครองไหม
ใครที่เป็นโรคซึมเศร้า ก็จะไม่เศร้าอีกต่อไปเพราะผู้ป่วยจะได้รับการรักษาฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ หากมีสิทธิรักษาพยาบาล บัตรทอง บัตรประกันสังคม ข้าราชการ คุ้มครองการรักษาทั้งหมด หากได้รับคำวินิจฉัยจากจิตแพทย์ โดยสิทธิประโยชน์ในการเข้าถึงยารักษาโรคซึมเศร้ามีจำนวน 8 รายการ โดยสามารถขอคำแนะนำเรื่องสิทธิการรักษาพยาบาลได้ที่สายด่วน สปสช.1330
โรคซึมเศร้าทำประกันได้ไหม
โรคซึมเศร้าหรือเรียกได้ว่าเป็นโรคทางจิตเวช ส่วนใหญ่บริษัทประกันจะไม่รับในการเคลมประกัน หรือเรียกได้ว่าจะไม่รับทำประกันทุกกรณี แต่ก็มีบางกรณีที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทำประกันได้ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแผนประกันแต่ละแผนด้วย ซึ่งแผนประกันที่คุ้มครองผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าก็มีอยู่ด้วยเช่นกันแต่จะมีราคาที่สูงอยู่มาก เนื่องจากภาวะโรคซึมเศร้าต้องใช้ระยะเวลาในการรักษาที่ยาวนาน ต้องติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง คุณหมอจะทำการนัดหมายในการรักษา ซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลาในการรักษาเป็นปี ๆ
คุณเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่
ให้สังเกตจากอาการหลักต่าง ๆ เหล่านี้ หากคุณมีอาการเหล่านี้และเป็นเวลานานกว่า 14 วัน คุณเข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้า
- อารมณ์เศร้า เบื่อ ท้อแท้ ซึม หงอยเหงา
- ไม่มีความสุขกับกิจกรรมที่เคยทำ
- เบื่ออาหารหรือ เจริญอาหารมากเกินไป
- นอนไม่หลับเลย หรือ นอนมากเกินไป
- กระวนกระวายมากผิดปกติ
- เชื่องช้ามากผิดปกติ
- รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีสมาธิ ใจลอย
- ตำหนิตัวเอง หรือทำร้ายตัวเอง
- คิดอยากฆ่าตัวตาย
แบบสอบถามโรคซึมเศร้าออนไลน์
ปัจจุบันมี แบบสอบถามโรคซึมเศร้าออนไลน์ ให้ท่านได้ตรวจสอบอาการของคนเองว่าจะเข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ โดยคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำแบบทดสอบภาวะซึมเศร้า โดยให้เราใส่คะแนนให้ตรงกับคำตอบของเรา โดยคะแนนได้กำหนดไว้ดังนี้
0 = ไม่เลย
1 = มีบางวันหรือไม่บ่อย
2 = มีค่อนข้างบ่อย
3 = มีเกือบทุกวัน
โดยมีคำถามทั้งหมด 9 ข้อ แต่เราจะมาแนะนำคร่าว ๆ ดังนี้
1.เบื่อ ทำอะไร ๆ ก็ไม่เพลิดเพลิน
2.ไม่สบายใจ ซึมเศร้า หรือท้อแท้
3.หลับยาก หรือหลับ ๆ ตื่น ๆ หรือ หลับมากไป
ท่านสามารถคลิกทำแบบสอบถาม โรคซึมเศร้า ออนไลน์ได้ที่ https://med.mahidol.ac.th/th/depression_risk
เมื่อทำเสร็จพร้อมส่งคำตอบไป ระบบจะทำการวิเคราะห์และแจ้งผลให้ท่านทราบทันที เมื่อได้คำตอบแล้ว จะต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดอีกครั้งจากแพทย์ เพื่อทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย รวมถึงส่งตรวจเพิ่มเติมที่จำเป็น เพื่อยืนยันการวินิจฉัยที่แน่นอน รวมถึงเพื่อแยกโรคหรือภาวะอื่น ๆ เนื่องจากภาวะซึมเศร้าเป็นจากสาเหตุต่าง ๆ ได้มากมาย