พ.ร.บ.รถยนต์ มีค่ามากกว่าที่คุณคิด
เจ้าของรถทุกคันจะทราบกันเป็นอย่างดีว่าในทุกๆปีคุณจะมีหน้าที่ต่อ พ.ร.บ.รถยนต์ เพราะกฎหมายบังคับให้รถทุกคันต้องทำ มีชื่อเรียกทางการว่า”ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ” แต่จะมีสักกี่คนที่รู้จริงๆว่าที่เราต้องไปจ่ายในทุกๆปี เอาไว้ทำอะไร สามารถทำอะไรได้บ้าง วันนี้ทีมงานอีซี่อินชัวร์โบรกเกอร์จะทุกท่านไปรู้จักประโยชน์ทั้งหมดของ พรบ รถยนต์ กันครับ
พ.ร.บ.รถยนต์ คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ซึ่งกฎหมายบังคับเอาไว้ว่ารถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ ทุกคันทุกประเภทจะต้องทำประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับนี้ไว้ และหลายคนจะเรียกป้ายสี่เหลี่ยมที่ติดหน้ารถว่าเป็น พรบ.รถยนต์ แต่ที่จริงเรียกว่าป้ายภาษีต่อทะเบียนรถ ซึ่งทั้งสองจะต้องซื้อควบคู่กันเพื่อคุ้มครองอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายต่างๆ การรักษาพยาบาล ทุพพลภาพ และการเสียชีวิต ดังนั้นผมจะพาทุกท่านไปดูกันว่าเจ้า พ.ร.บ. คุ้มครองอะไรบ้าง
อ่านเพิ่มเติม : พ.ร.บ.รถยนต์ และ ประกันภัยรถยนต์ คืออะไร คุ้มครองอะไรบ้าง แตกต่างกันอย่างไร
พ.ร.บ.รถยนต์ คุ้มครองอะไรบ้าง
- ค่าเสียหายเบื้องต้น คือ ไม่ว่าคุณจะเป็นฝ่ายผิดหรือฝ่ายถูกคุณจะได้รับการชดเชยโดยไม่ต้องรอพิสูจน์ฝ่ายถูกฝ่ายผิด โดยมีเงินชดเชยสูงสุดดังนี้
- ค่ารักษาพยาบาล จากการบาดเจ็บ(ทุกกรณี) จ่ายตามค่ารักษาจริงสูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท
- การสูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพถาวร หรือเสียชีวิต จ่ายเงินชดเชยสูงสุด 35,000 บาท/คน (เงื่อนไขตามกำหนด)
หมายเหตุ : ความเสียหายทั้งสองข้อรวมกันต้องไม่เกิน 65,000 บาท/คน
- ค่าสินไหมทดแทน คือ การจ่ายค่าสินไหมที่ต้องพิสูจน์ก่อนว่าใครเป็นฝ่ายผิดและฝ่ายถูก หากผู้เอาประกันเป็นฝ่ายถูกตามกฎหมาย จะได้รับความคุ้มครองรวมกับค่าเสียหายเบื้องต้นดังนี้
- ค่ารักษาพยาบาล จากการบาดเจ็บ จ่ายตามค่ารักษาจริงสูงสุดไม่เกิน 80,000 บาท
- สูญเสียอวัยวะ สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภทดังนี้
- สูญเสียมือตั้งแต่ข้อมือ หรือเสียแขน หรือเท้าตั้งแต่ข้อเท้า หรือเสียขา หรือตาบอด อย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งรวมกันตั้งแต่ 2 กรณีขึ้นไปชดเชย 300,000 บาท
- สูญเสียมือตั้งแต่ข้อมือ หรือเสียแขน หรือเท้าตั้งแต่ข้อเท้า หรือเสียขา หรือสายตา(ตาบอดแบบไม่สามารถมองเห็นได้เลย) หรือ หูหนวกเป็นใบ้ หรือเสียความสามารถในการพูดหรือลิ้นขาด หรือสูญเสียอวัยวะสืบพันธุ์ หรือความสามารถในการสืบพันธุ์ หรือจิตพิการอย่างติดตัว หรือเสียอวัยวะอื่นใดชดเชย 250,000 บาท
- สูญเสียนิ้วตั้งแต่ข้อนิ้วขึ้นไป ไม่ว่านิ้วเดียว หรือ หลายนิ้วชดเชย 200,000 บาท
- ค่าชดเชยการรักษาตัว กรณีเป็นผู้ป่วยใน 200 บาทต่อวัน แต่ไม่เกิน 20 วันหรือไม่เกิน 4,000 บาท
หมายเหตุ : จำนวนเงินคุ้มครองสูงสุดรวมกันจะต้องไม่เกิน 304,000 บาท
- วงเงินคุ้มครองความรับผิดสูงสุดต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้ง โดยแยกออกเป็น 2 ประเภทดังนี้
- รถยนต์ไม่เกิน 7 ที่นั่ง 5,000,000 ต่อครั้ง
- รถยนต์เกิน 7 ที่นั่ง 10,000,000 ต่อครั้ง
อ่านเพิ่มเติม : พ.ร.บ.รถยนต์ หรือประกันภาคบังคับ…คุ้มครองอะไรบ้าง? | ฉบับย่อ เข้าใจง่าย
เบิกค่าชดเชย พ.ร.บ.รถยนต์ ใช้เอกสารอะไรบ้าง
การเบิกค่าชดเชยหรือที่เรียกว่าการเคลม พ.ร.บ. จะต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง ซึ่งเอกสารในการเบิกจะแยกออกเป็น 4 กรณีดังนี้
- กรณีบาดเจ็บ
1. สำเนาบัตรประชาชนผู้ประสบอุบัติเหตุ
2. ใบเสร็จรับเงินต้นฉบับ
- กรณีเบิกค่าชดเชย หรือ ผู้ป่วยใน
1. สำเนาบัตรประชาชนผู้ประสบอุบัติเหตุ
2. ใบรับรองแพทย์ หนังสือรับรองการรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน
- กรณีทุพพลภาพ
1. สำเนาบัตรประชาชนผู้ประสบอุบัติเหตุ
2. ใบรับรองแพทย์และหนังสือรับรองความพิการ
3. สำเนาบันทึกประจำวันของพนักงานสอบสวน หรือ หลักฐานอื่นที่แสดงว่าผู้นั้นได้รับความเสียหายจากการประสบภัยจากรถ
- กรณีเสียชีวิต
1. สำเนาบัตรประชาชนผู้ประสบอุบัติเหตุ
2. ใบมรณบัตร
3. สำเนาบัตรประชาชนทายาทสำเนาทะเบียนบ้าน
4. สำเนาบันทึกประจำวันในคดีของพนักงานสอบสวน หรือหลักฐานอื่นที่แสดงว่าผู้นั้นถึงแก่ความตาย เพราะการประสบภัยจากรถ
จะเห็นได้ว่าความคุ้มครองของพ.ร.บ.รถยนต์ มีมากกว่าที่คุณคิดจริงๆใช่ไหมละครับ ที่จริงแล้วเนื้อหาเกี่ยวกับ พ.ร.บ. มากกว่านี้เยอะเลยครับ แต่ผมนำมาย่อในรูปแบบที่อ่านง่ายเข้าใจง่าย เพื่อที่ทุกท่านจะนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงๆ โดยเฉพาะขั้นตอนการเตรียมเอกสารที่ต้องเตรียมให้พร้อมก่อนเดินทางไปยื่นขอเบิกเงินกับบริษัทประกันภัยรถยนต์ที่เราไปซื้อ พ.ร.บ. โดยจะดูได้จากกรมธรรม์ประกันภัย หรือจะส่งเบิกกับบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัดได้ทุกสาขาทั่วประเทศ
ดังนั้นเมื่อสรุปให้เข้าใจง่ายมากขึ้น พ.ร.บ. จะคุ้มครองผู้เสียหายในส่วนของบุคคลเท่านั้น ส่วนความเสียหายต่อทรัพย์สิน อาทิเช่น ความเสียหายของรถเรา หรือรถคู่กรณี หรือทรัพย์สินอื่นๆ จะไม่ได้รับความคุ้มครองทั้งสิ้น
ดังนั้นถ้าหากคิดว่าต้องการความคุ้มครองเพิ่มเติม จะต้องซื้อประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ ที่เรารู้จักกันดีคือ ประกันรถยนต์ชั้น1 2+ 3+ และชั้น3 เพื่อคุ้มครองความเสียหายที่เกิดขึ้นจากรถคันที่เอาประกันภัยในอนาคต และที่สำคัญ ! หากพบว่า พ.ร.บ. ใกล้จะหมดความคุ้มครอง ก็อย่าลืมไปเรื่อง ต่อ พรบ รถยนต์ เอาไว้ด้วย ป้องกันปัญหาการลืมต่อจนส่งผลให้โดนปรับตามกฎหมาย
แนะนำโดย : easyinsure.co.th
Pingback: พ.ร.บ.รถยนต์ คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร แล้วคุ้มครองอะไรบ้าง อยากรู้ต้องอ่าน