กรองอากาศรถยนต์
กรองอากาศรถยนต์ คือ อุปกรณ์ที่ถูกติดตั้งไว้ระหว่างช่องดูดอากาศเข้าเครื่องยนต์ ทำหน้าที่กรองฝุ่นและสิ่งสกปรกต่าง ๆ เพื่อไม่ให้สิ่งสกปรกเข้าสู่เครื่องยนต์ โดยฝุ่นจะติดเกาะตามกรองอากาศ ซึ่งถ้าหากเราไม่ล้างทำความสะอาด จะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของกรองอากาศลดลง และทำงานไม่เต็มที่ส่งผลต่อเครื่องยนต์ในระยะยาว
ปัจจุบันผู้ผลิตอะไหล่รถยนต์จำนวนมาก ได้ออกแบบและผลิต กรองเปลือย กรองแต่ง แทนกรองเดิม โดยมีความเชื่อว่าจะสามารถทำให้ระบายอากาศดีขึ้น ดักเศษฝุ่นดีขึ้น ซึ่งถ้าใครมีงบเยอะก็ไม่จำเป็นต้องล้างทำความสะอาด สามารถสั่งเบิกอะไหล่มาติดตั้งแทนของเดิมได้ทันที หรือจะเข้าไปให้ช่างเปลี่ยนให้ก็ได้ แต่ถ้าใครมีงบน้อย ต้องการทำความสะอาดก็สามารถทำได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องนำรถไปให้ช่างล้างทำความสะอาดให้ โดยอุปกรณ์และขั้นตอนการทำความสะอาดกรองอากาศ สามารถทำได้ดังนี้
อุปกรณ์ล้างทำความสะอาดกรองอากาศรถยนต์
- แปรงสีฟันเก่า ๆ หรือแปรงขนอ่อน
- ไขควง
- น้ำยาล้างกรองอากาศรถยนต์ หรือ น้ำยาล้างจาน
- น้ำยาเคลือบกรองอากาศรถยนต์ (ถ้ามี)
ขั้นตอนการล้างทำความสะอาดกรองอากาศรถยนต์
- นำไขควงไขกรองอากาศออกมาจากหม้อกรอง หรือเรียกว่าท่อทางเดินอากาศ
- นำแปรงที่เตรียมไว้ ปัดฝุ่น สิ่งสกปรก ออกจากกรองอากาศให้หมด ระวังอย่าปัดแรงเกินไปเพราะจะทำให้กรองอากาศรถยนต์ได้รับความเสียหาย
- ฉีดน้ำยาล้างกรองอากาศ หรือ น้ำยาล้างจาน ที่ได้เตรียมเอาไว้ให้ทั่วกรองอากาศ จากนั้นปล่อยไว้ประมาณ 20 นาที
- เมื่อครบ 20 นาทีเรียบร้อยแล้วให้นำไปล้างน้ำสะอาดจนกว่าน้ำยาจะออกหมด เทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ คือ ให้ล้างโดยไล่จากด้านในไปด้านนอก
- เมื่อล้างด้วยน้ำสะอาดเรียบร้อยแล้ว ให้นำไปตากแดดให้แห้ง ย้ำว่าต้องแห้งจนไม่มีละอองน้ำอยู่ ถ้าใครมีน้ำยาเคลือบกรองอากาศก็สามารถนำออกมาพ่นให้ทั่วได้เลย โดยทิ้งไว้ให้แห้งอีกครั้ง
- นำไขควงไขกรองอากาศประกอบเข้าไปที่เดิม หลังจากนั้นก็ใช้งานได้ปกติ
กรองอากาศรถยนต์ เป็นอุปกรณ์อย่างหนึ่งที่มีความสำคัญต่อเครื่องยนต์เป็นอย่างสูง ดังนั้นเราควรล้างทำความสะอาดทุก ๆ 10,000 กิโลเมตร หรือนำออกมาทำความสะอาดพร้อมกับเปลี่ยนน้ำมันเครื่องเลยก็ได้ เพื่อจะได้ถอดเข้าถอดออกทีเดียว ซึ่งถ้าตรวจสอบแล้วพบว่ากรองอากาศเสียหาย อาทิเช่น มีรอยฉีกขาด หรือขึ้นเชื้อราเกิดจากความชื้น ให้รีบหาซื้อเปลี่ยนทันที เพราะถ้าปล่อยไว้จะส่งผลต่อเครื่องยนต์โดยตรง ทำให้เครื่องยนต์เกิดความเสียหายได้
แนะนำโดย : Easyinsure.co.th อีซี่อินชัวร์ ดูแลด้วยใจ ประกันภัย ง่ายนิดเดียว
Pingback: รถเร่งไม่ขึ้น เกิดจากสาเหตุอะไร สำหรับเกียร์ธรรมดาและเกียร์ออโต้