วิธีเลือกกล้องหน้ารถ
ในการขับขี่รถยนต์ บนท้องถนน อาจจะเกิดเหตุไม่คาดฝันได้ตลอดเวลา ไม่ว่าเราจะขับรถไปเฉี่ยวชนคนอื่น หรือคนอื่นขับรถมาเฉี่ยวชนเรา ซึ่งทำให้เกิดปัญหาต่างๆตามมาว่าใครผิดใครถูก เพราะเวลาเกิดเหตุจะเกิดเร็วมาก และมักจะเกิดความเสียหายต่างๆตามมาอีกมาก หากมีกล้องติดหน้ารถเก็บภาพบันทึกไว้เป็นหลักฐานก็จะเป็นตัวช่วยเป็นพยานชิ้นเอก ที่จะคอยคลี่คลายคดีลงได้ และเป็นตัวบ่งบอกได้ว่าใครผิดใครถูก จากภาพถ่ายกล้องหน้ารถที่ติดตั้งไว้
หากติดตั้งกล้องหน้ารถที่มีคุณภาพ ก็จะช่วยทำให้หลักฐานมันตัวคนผิดได้ชัดเจนขึ้น เพราะกล้องติดหน้ารถตามท้องตลาดมีอยู่หลายเกรด หลายราคา หากเลือกไม่เป็นเจอของปลอมยิ่งแย่ เสียเงินแล้วยังใช้งานไม่ได้ เวลาเกิดเหตุก็ไม่มีหลักฐานมาช่วยเหลือ ก่อนการซื้อจึงควรพิจารณาให้ดี เลือกซื้อจากร้านที่มั่นใจและเชื่อถือได้
การเลือกกล้องติดหน้ารถ ก็เป็นสำคัญ ช่วยให้เราได้กล้องที่มีคุณภาพ ดังนั้น หากใครกำลังจะติดตั้งกล้องติดหน้ารถ เรามี วิธีเลือกกล้องติดหน้ารถ ให้ดี และคุ้มค่า มาฝากค่ะ
1 ดูความละเอียดของกล้อง
การเลือกติดกล้องหน้ารถ เราต้องคำนึงถึงการนำไปใช้งานได้จริง บันทึกภาพได้ละเอียดคมชัด ซึ่งความละเอียดของกล้องปัจจุบันอยู่ที่ระดับ FULL HD 1080p หรือ HD Ready 720p ถือว่าเป็นมาตรฐาน เวลาเกิดเหตุก็สามารถดึงวิดิโอภาพออกมาใช้งานได้ แต่จะดูเฉพาะความละเอียดตัวเดียวก็ไม่ได้ เพราะความคมชัดจะต้องดูองค์ประกอบอื่นด้วย เช่น เลนส์ และชิป ประมวลผลที่ต้องทำงานคู่กันด้วย
คุณภาพของวิดีโอที่บันทึกได้เป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องคำนึงถึงเป็นอันดับต้นๆ จะนำไปใช้งานจริงได้หรือไม่ก็อยู่ที่ตรงนี้ ปัจจุบันความละเอียดของกล้องติดรถยนต์ควรต้องอยู่ที่ระดับ FULL HD (1080p) หรือ HD Ready (720p) เป็นมาตรฐานครับ เพราะที่ความละเอียดระดับนี้ เราสามารถที่จะนำภาพวิดีโอที่ได้ไปใช้งานจริงได้อย่างไม่มีปัญหาแน่นอน แต่การจะได้มาซึ่งความละเอียดระดับ FULL HD แท้ๆ หรือไม่นั้น มีองค์ประกอบหลักนั่นก็คือ เลนส์ และชิปประมวลผลที่ต้องทำงานควบคู่กัน เพียงสเปกที่ระบุไว้ว่ารองรับได้ถึง FULL HD เวลาใช้งานจริงอาจจะทำได้เพียง 480p ก็อาจเป็นได้
ฉะนั้น กล้องติดรถยนต์ รุ่นไหนมีระบุมาในสเปกชัดเจนถึงเลนส์และรุ่นของชิปประมวลผลที่ใช้ได้ก็จะดีมาก แล้วนำรุ่นของชิปประมวลผลที่ใช้ไปค้นหาใน google.com อีกครั้ง เราจะรู้เลยครับว่าชิปประมวลรุ่นนี้รองรับการถ่ายวิดีโอ FULL HD จริงหรือไม่ เป็นข้อพิจารณาเบื้องต้นได้เลย โดยส่วนใหญ่แล้วกล้องติดรถยนต์ที่เป็นแบรนด์มาตรฐาน มีคุณภาพดีในระดับหนึ่งนั้นจะบอกรายละเอียดต่างๆเหล่านี้มาในสเปกอยู่แล้ว
2. FPS สูง ภาพเคลื่อนไหวที่สมจริง ลื่นไหล
ภาพคมชัด แต่เคลื่อนไหวไม่สมูทก็คงไม่ดีเป็นแน่ เราจะรู้ได้ว่ากล้องติดรถยนต์รุ่นไหนให้ภาพเคลื่อนไหวที่สมจริง ลื่นไหล ต้องดูที่ค่า FPS ย่อมาจาก Frame Per Second แปลเป็นไทยว่า อัตราเฟรมภาพต่อวินาที เป็นหน่วยวัดการบันทึกภาพนิ่งของภาพเคลื่อนไหวในกล้องวิดีโอต่อ 1 นาที เช่น 25 FPS หมายถึง ใน 1 วินาที จะมีภาพนิ่งถูกบันทึกต่อเนื่องกัน 25 ภาพ แน่นอนว่าค่า FPS มากจะส่งผลให้ภาพเคลื่อนไหวที่ได้มีความต่อเนื่อง ดูลื่นไหล แต่หากค่า FPS ต่ำ ภาพเคลื่อนไหวจะดูกระตุกไม่ต่อเนื่องนั่นเองครับ สำหรับกล้องติดรถยนต์แล้ว ค่า FPS ที่สูงเกินไปอาจจะมีผลเสียมากว่าผลดี เพราะทำให้สิ้นเปลืองการ์ดความจำมากกว่าปกติ เพราะไฟล์วิดีโอที่ได้จะมีขนาดใหญ่มาก
ถ้าจะให้ดี ค่า FPS สำหรับกล้องติดรถยนต์จึงไม่ควรสูงมากจนเกินไป ที่ระดับ 30 FPS หรืออย่างต่ำสุดก็อย่าน้อยไปกว่า 25 FPS ก็จะเพียงพอต่อการใช้งาน แต่ทั้งนี้ต้องดูสเปกของกล้องด้วยนะครับว่าค่า FPS ที่ระบุมานั้น เป็นค่า FPS ที่ทำได้ที่ระดับความละเอียดภาพเท่าไหร่ เพราะค่า FPS สูงสุดที่ทำได้ก็ควรจะทำได้ที่ความละเอียดภาพสูงสุดที่กล้องทำได้ เช่น กล้องความละเอียด FULL HD ก็ควรที่จะทำ 30FPS ได้ที่ค่าความละเอียด FULL HD ถึงจะถูกต้อง เพราะมีกล้องติดรถยนต์ที่อาจจะคุณภาพไม่ดีหลอกมาในสเปกได้ว่าทำ FPS ได้สูงจริง แต่ที่ระดับความละเอียดต่ำนั่นเอง
3. ถ่ายวิดีโอเวลากลางคืนหรือสภาวะที่มีแสงน้อยได้ดี
การใช้งานในสภาวะที่มีแสงน้อยหรือเวลากลางคืนนั้น จำเป็นและมีความสำคัญไม่แพ้กับคุณภาพของวิดีโอที่ได้ เพราะเมื่อเริ่มบันทึกภาพก็ต้องบันทึกไปตลอดการเดินทาง เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นเวลาไหน กล้องติดรถยนต์ที่สามารถใช้งานในสภาวะที่มีแสงน้อย หรือเวลากลางคืนได้ดีจึงต้องมีตัวช่วย ระดับพื้นฐานสุดๆ ก็ต้องมีอินฟาเรด ซึ่งเราจะพบได้ในกล้องติดรถยนต์รุ่นล่างๆ ราคาประหยัดก็ช่วยได้ระดับหนึ่ง
แต่ถ้าจะให้ดีที่สุดและควรจะต้องมีก็คือ ฟังก์ชันที่เรียกว่า WDR ( Wide Dynamic Range ) ซึ่งเป็นฟังก์ชันเดียวกันกับที่มีอยู่ในกล้องวงจรปิดที่ติดกันตามบ้าน สำนักงาน หรือตามท้องถนนนั่นเอง จะช่วยทำให้การบันทึกภาพเวลากลางคืน (Night Shot) หรือสภาวะที่มีแสงน้อยให้สว่างขึ้น และลดแสงบนท้องถนนที่มากเกินไป ทำให้ได้ภาพที่มีรายละเอียดมากขึ้น ดูรู้เรื่องว่าเป็นภาพอะไรทั้งที่มีแสงน้อย โดยหลักการทำงานก็คือ กล้องจะถ่ายภาพซ้อนกัน 2 ภาพในเวลาเดียวกัน โดยภาพแรกถ่ายออกมาเป็นภาพดูมืดดำ เหมือนมีแสงน้อย และอีกรูปถ่ายให้มีความสว่างมากกว่าสภาวะปกติ แล้วนำภาพที่ได้มาซ้อนกัน ช่วยให้กล้องเก็บรายละเอียดภาพได้มากกว่าการบันทึกภาพปกติที่ไม่มีฟังก์ชัน WDR ฉะนั้นแล้วเลือกซื้อกล้องติดรถยนต์ควรเลือกรุ่นที่มีฟังก์ชัน WDR มาด้วยนะครับ
4. รูรับแสงสำคัญพอกัน
รูรับแสง หรือ Lens Aperture ของกล้องติดรถยนต์มีความหมายเดียวกันกับของกล้องถ่ายรูป เป็นตัวควบคุมปริมาณแสงที่จะวิ่งผ่านรูนี้เข้าไปในกล้อง มีหน่วยเรียกว่า “F” หรือศัพท์ของช่างภาพเรียกกันคือ “ค่า F/Stop” ใช้ตัวเลขกำกับแสดงขนาดของรูรับแสง ค่าตัวเลข F น้อย รูรับแสงกว้าง แสงเข้าได้มาก ภาษากล้องเรียกว่า ชัดตื้น คือให้ช่วงระยะชัดของภาพน้อย จะให้ภาพที่คมชัดมากที่สุดตรงจุดโฟกัส ในขณะที่หากค่าตัวเลข F มาก รูรับแสงแคบลง แสงเข้าได้น้อย เรียกว่าชัดลึก คือให้ช่วงระยะชัดของภาพมาก ภาพที่ได้จะคมชัดเท่ากันทั้งภาพ
หากเป็นในเรื่องของการถ่ายภาพแล้ว ไม่ว่าจะค่า F น้อย ทำให้ชัดตื้น หรือค่า F มาก ทำให้ชัดลึก นั้นต่างก็มีข้อดีแตกต่างกันออกไปแล้วแต่ว่าจะถ่ายภาพอะไร แต่สำหรับกล้องติดรถยนต์แล้ว ค่า F มาก ทำให้ชัดลึกคมชัดทั้งภาพ เหมาะสมกับการใช้งานมากกว่า โดยส่วนใหญ่ถ้าเป็นกล้องติดรถยนต์ที่มีแบรนด์ คุณภาพดี ก็จะระบุค่า Lens Aperture มาในสเปกให้ทราบด้วย
5. มุมมองของกล้องที่ใช้งานได้จริง
มุมมองของกล้องก็เป็นอีกเรื่องที่น่าสนใจ การที่กล้องมีมุมมองกว้างมากเกินไปก็ใช่ว่าจะดีไปเสียหมดนะครับ ที่กล่าวแบบนี้ก็ไม่ได้หมายความว่ากล้องที่มีมุมมองแคบนั้นจะดีกว่าด้วยเช่นกัน มันควรต้องอยู่ตรงกลางความพอดีที่ใช้งานได้จริง หากกล้องมีมุมมองแคบเกินไป ก็อาจจะครอบคลุมหน้ารถได้ไม่หมด โดยเฉพาะรถยุโรป กล้องที่มีมุมมองกว้างมาก ก็ช่วยให้เก็บรายละเอียดทั้งสองข้างทางของภาพได้มากกว่าก็จริง แต่ส่วนใหญ่จะส่งผลกระทบกับภาพวิดีโอหรือภาพนิ่งด้านหน้าตรงที่บันทึก เพราะลักษณะของภาพที่ได้จะเหมือนถูกซูมออกมา ภาพตรงกลางจะถูกบีบเพื่อเก็บภาพด้านข้างได้มากขึ้น จึงไม่ชัดเท่าที่ควร และยังทำให้ระยะของภาพผิดเพี้ยน ดูไกลขึ้นกว่าระยะจริงที่เกิดขึ้น
หากนึกว่าไม่ออกก็ลองนึกถึงภาพที่ได้จากเลนส์กล้อง Fish Eye จะออกมาแนวๆ นั้นเลยครับ อีกอย่างหนึ่งอย่าลืมครับว่า เราติดกล้องเพื่อ ป้องกันรถเราเอง ฉะนั้น ภาพด้านหน้าตรงจึงมีความสำคัญที่สุด เลือกกล้องติดรถยนต์ที่มีมุมมองกว้างเป็นเรื่องดี แต่ต้องให้แน่ใจว่าภาพด้านหน้าตรงต้องคมชัด ไม่ผิดเพี้ยนนะครับ ซึ่งกล้องติดรถยนต์ที่มีคุณภาพดีจริงในระดับหนึ่งขึ้นไป สามารถทำได้ครับ
6. ระบบ G-sensor เก็บได้ทุกเหตุการณ์
เบรกรถกะทันหัน รถเกิดอุบัติเหตุ หรือเกิดเหตุอะไรก็ตามแต่ แน่นอนว่ามันจะต้องมีแรงสั่นสะเทือนหรือแรงกระแทกเกิดขึ้น ระบบ G-Sensor (หรืออาจจะมาในชื่อเรียกอื่น) ที่ติดมากับกล้อง จะทำหน้าที่ตรวจจับแรงสั่นสะเทือน หรือแรงกระแทกที่เกิดขึ้นกะทันหันนี้มาเพื่อทำการล็อกไฟล์วิดีโอที่บันทึกอยู่ในช่วงเวลานั้น เพื่อแยกออกมาเก็บเป็นไฟล์พิเศษต่างหากจากช่วงเวลาที่บันทึกปกติ และจะถูกป้องกันไม่ให้ช่วงเวลาดังกล่าวถูกบันทึกวนซ้ำเมื่อหน่วยความจำเต็ม ถึงแม้ลบด้วยคอมพิวเตอร์ก็ทำไม่ได้ ต้องฟอร์แมตการ์ดความจำสถานเดียวจึงจะลบออกได้ ทำให้เรานำมาตรวจสอบย้อนหลังได้สะดวกไม่เสียเวลา ระบบนี้จึงมีความสำคัญและถือเป็นฟังก์ชันพื้นฐานที่กล้องติดรถยนต์ต้องมีนะครับ
นอกจากนี้แล้วยังมีอีก 1 ฟังก์ชันที่ทำงานคล้ายๆ กับระบบ G-sensor นั่นคือ Emergency button หรือปุ่มบันทึกภาพฉุกเฉิน โดยมันจะทำหน้าที่บันทึกภาพโดยล็อกเป็นไฟล์วิดีโอแยกออกมาเช่นเดียวกับระบบ G-sensor แต่มันจะเริ่มทำงานด้วยการสั่งบันทึกจากการกดปุ่ม Emergency button แทน เพื่อไว้สำหรับเหตุการณ์พิเศษที่เรารับรู้ได้แต่ต้องการบันทึกเอาไว้นั่นเอง
7. ระบบตรวจจับความเคลื่อนไหว (Motion detect)
ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าระบบตรวจจับความเคลื่อนไหว ( Motion detect ) จะทำงานทันทีเมื่อมีการเคลื่อนไหวเกิดขึ้นผ่านหน้ากล้องหรือหน้ารถยนต์ของเรา โดยจะบันทึกเป็นไฟล์วิดีโอออกมาเก็บไว้ในทุกๆ การเคลื่อนไหวที่ตรวจจับได้ ไฟล์ที่ได้จะมีขนาดเล็กและมีเฟรมเรทที่ต่ำเพื่อไม่ให้สิ้นเปลืองพื้นที่ของการ์ดหน่วยความจำ เจ้าระบบตรวจจับความเคลื่อนไหว ( Motion detect ) เราจะได้ใช้งานมันก็ต่อเมื่อเราเปิดกล้องทิ้งไว้เฉยๆ แต่ไม่ได้ทำการบันทึกภาพวิดีโอไว้นั่นเองครับ เช่นขณะรถติดหรือเราจอดรถทิ้งไว้เฉยๆ ที่ลานจอดรถ และต้องการที่จะรับรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขณะรถจอดอยู่เฉยๆ ว่ามีใครมาทำอะไรกับรถเราบ้างนั่นเอง แต่การจะใช้ระบบดังกล่าวนี้ ตัวกล้องจำเป็นต้องมีไฟเลี้ยงตลอดเวลา จึงจำเป็นต้องมีอุปกรณ์จ่ายไฟให้กล้องอย่าง power bank ต่อกับกล้องไว้ตลอดเวลา
8. ใช้แบตเตอรี่แบบใด
กล้องติดรถยนต์ มีทั้งรุ่นที่มีแบตเตอรี่ในตัว สามารถจ่ายไฟให้ตัวเองใช้งานได้ทันทีโดยไม่ต้องต่อไฟจากที่จุดบุหรี่ สะดวกเวลาใช้งานโดยที่ไม่ต้องต่อไฟเพิ่ม กับกล้องอีกแบบคือไม่มีแบตเตอรี่ในตัวเอง แต่จะมีคาปาติเตอร์ ( (Dual SuperCap) เป็นตัวเก็บประจุไฟ ทำหน้าที่เสมือนแบตเตอรี่สำรองเท่านั้น โดยจะค่อยๆ ปล่อยกระแสไฟออกมาอย่างช้าๆ เพื่อให้กล้องติดรถยนต์บันทึกวิดีโอได้เสร็จสมบูรณ์เมื่อดับเครื่องยนต์ เพื่อไม่ให้วิดีโอที่บันทึกเกความเสียหาย แต่ไม่สามารถจ่ายไฟให้กล้องติดรถยนต์ทำงานได้เหมือนแบตเตอรี่ ซึ่งดูเหมือนว่ามันจะไม่ดี เพราะถ้าไม่ต่อไฟจากที่จุดบุหรี่ก็จะไม่สามารถใช้งานได้
แต่ที่จริงแล้วมันมีข้อดีอยู่เหมือนกันนะครับ เพราะจะไม่มีปัญหาเกี่ยวกับแบตเตอรี่มากวนใจ เช่น แบตเสื่อม แบตบวมเก็บไฟไม่อยู่ ซึ่งมันเกิดขึ้นแน่นอน ด้วยคุณภาพของตัวแบตเตอรี่เองที่ก็คงจะไม่ได้ดีอะไรมากมายเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และที่หนีไม่พ้นแน่นอนก็คือเรื่องของความร้อนจากแบตเตอรี่ที่เกิดจากการใช้งาน ในการติดตั้งใช้งานหน้ากระจกรถก็ยังหนีไม่พ้นเรื่องแดดที่ต้องส่องมาโดนตัวกล้องอย่างเลี่ยงไม่ได้อีก ก็จะยิ่งทำให้กล้องร้อนง่ายกันไปใหญ่ ส่งผลทำให้กล้องรวน ถึงขนาดที่ไม่สามารถใช้งานได้ และก็เป็นที่น่าสังเกตว่ากล้องติดรถยนต์ที่มีคุณภาพดี ราคาสูง ส่วนใหญ่จะไม่มีแบตเตอรี่ภายในนะครับ แต่จะมีคาปาซิเตอร์มาแทน
9. การรับประกันและบริษัทนำเข้า
กล้องติดรถยนต์ เป็นอุปกรณ์อีกชนิดหนึ่งที่สามารถใช้สโลแกนที่ว่า คุณภาพตามราคาได้เช่นกัน น้อยนักครับที่กล้องติดรถยนต์ที่มีราคาจำหน่ายถูกมากจะให้คุณภาพดี รวมไปถึงความทนทานในการใช้งานจริงด้วย กล้องติดรถยนต์ในท้องตลาดมีให้เลือกซื้ออยู่หลายระดับราคา รวมไปถึงสินค้าปลอมก็มีออกมามากด้วยเช่นกัน อีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้เราได้กล้องวิดีโอที่มีคุณภาพมาใช้ คือเลือกแบรนด์ที่มีตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยที่แน่นอน ไม่ใช่มีเพียงหน้าร้านหรือร้านค้าออนไลน์ที่สั่งของจากผู้ผลิตโดยตรงมาจำหน่าย อย่าเห็นแก่ราคาถูกเป็นสำคัญ เพราะนอกจากจะมีคุณภาพที่ไม่ค่อยดีแล้ว มันมักจะไม่ทน และไม่มีการรับประกันอะไรที่แน่นอน เลือกซื้อแบรนด์ที่มีตัวแทนจำหน่ายแน่นอน ก็จะได้รับการรับประกันที่แน่นอนตามมาด้วยเช่นกัน คือเสียแล้วก็สามารถส่งซ่อมส่งเคลมกันได้ มิใช่เสียแล้วต้องทิ้งสถานเดียวครับ
10. บททดสอบจากผู้ใช้จริง
ข้อพิจารณาในการเลือกซื้อกล้องติดรถยนต์ที่ควรอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาไว้ไม่แพ้กับข้ออื่นก็คือ บททดสอบการใช้งานจริงของกล้องรุ่นนั้นๆ ที่เราสนใจนี่ล่ะครับ นำชื่อรุ่นกล้องติดรถยนต์ที่เราสนใจเข้าไปค้นหาวิดีโอรีวิวใน youtube.com ส่วนใหญ่จะพบว่ามีผู้ใช้จริงจำนวนไม่น้อยอัพโหลดวิดีโอเหล่านั้นขึ้นไปให้เราเลือกชมกันได้เลย ไม่ใช่ดูจากวิดีโอที่ถ่ายทำจากเว็บของกล้องรุ่นนั้นเพียงอย่างเดียว เพราะอาจจะมีการปรับแต่งให้ดูสวยงามไว้ก็เป็นได้ครับ และบางทีสเปกที่ระบุมาอาจจะเกินจริงหรือบอกไม่หมด ภาพวิดีโอจากผู้ใช้ทดสอบไว้นี่ล่ะครับ จะเป็นข้อพิสูจน์ได้เป็นอย่างดีเลย หรือหากหาวิดีโอทดสอบไม่ได้จริง ก็ไปทำการทดสอบถ่ายจริง หรือเล่นของจริงที่ร้านตัวแทนจำหน่าย ว่าทำได้จริงตามสเปกระบุไว้หรือไม่ คุณภาพของวิดีโอที่ได้นั้นดีแค่ไหน
ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นสิ่งที่เราควรจะใช้พิจารณาในการเลือกหากล้องติดรถยนต์ที่ดีมีคุณภาพมาใช้จริงได้เลยครับ แต่ในบางรายละเอียดเช่น ขนาดรูรับแสง มุมมอง อาจจะไม่ได้ระบุมาในสเปก หากเป็นเช่นนั้น เบื้องต้นก็ให้สงสัยไว้ได้เลยครับว่า กล้องรุ่นนั้นอาจไม่น่าสนใจเท่าที่ควร เพราะสเปกที่ผู้ซื้อควรรู้เพื่อที่จะบ่งบอกถึงประสิทธิภาพของกล้อง กลับไม่ระบุมาในสเปกเหมือนตั้งใจจะปกปิด แต่ถึงกระนั้นก็คงจะระบุเจาะจงไปไม่ได้เสียทีเดียวว่ากล้องติดรถยนต์รุ่นนั้นจะไม่ดีซะทีเดียว คงจะต้องดูองค์ประกอบอื่นๆ พิจารณาควบคู่กันไปด้วย
กล้องติดรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ในปัจจุบันยังมีฟังก์ชันพิเศษเสริมการทำงานเพิ่มเข้ามาด้วยอีกมากมาย ที่เห็นเด่นๆ เลยก็คือระบบ GPS ที่จะช่วยระบุพิกัดตำแหน่งที่เราเดินทาง ความเร็วที่ใช้ในการขับขี่ได้ ซึ่งเป็นคนละระบบกับ GPS ที่ใช้นำทางนะครับ มันเป็นระบบ GPS ที่รับสัญญาณมาเหมือนกัน แต่นำสัญญาณที่ได้มาประมวลผลใช้งานแตกต่างกัน กล้องติดรถยนต์จะมี GPS มาด้วยหรือไม่มีนั้นก็ขึ้นอยู่กับการใช้งานของเรา
นอกจากฟังก์ชัน GPS ก็ยังมีฟังก์ชันอื่นๆ อีกเพียบที่เพิ่มลูกเล่นให้เข้ากับกล้องติดรถยนต์รุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งเตือนเมื่อขับออกนอกเลนส์ที่วิ่งอยู่, แจ้งเตือนเมื่อขับเข้าใกล้ท้ายรถคันหน้ามากเกินไป, เตือนกล้องจำกัดความเร็ว, แจ้งเตือนรถคันหน้าเคลื่อนที่, แจ้งเตือนเปิดไฟหน้า และฟังก์ชันอื่นๆ อีกมากมาย ในอนาคตก็คงจะมีเพิ่มออกมามากกว่านี้ ถามว่าจำเป็นไหมกับฟังก์ชันเหล่านี้ ก็คงต้องย้อนกลับไปดูที่การใช้งานว่าเราต้องการใช้งานฟังก์ชันเหล่านี้หรือไม่ เพราะหากไม่ใช่แล้ว เราอาจจะรำคาญเมื่อฟังก์ชันเหล่านี้ทำงานหรือเปล่า เพราะถึงไม่มีมันก็ไม่ได้ทำให้กล้องมีคุณภาพแย่กว่าเดิม เพราะมันคือฟังก์ชันเสริมเท่านั้น
ขอบคุณรูปภาพประกอบจาก iaumreview.com https://2.bp.blogspot.com
เรียบเรียงโดย EasyInsure.co.th
Pingback: รถคันหน้าไหลมาชน แล้วบอกว่าเราชนทำอย่างไรดี หากเราไม่ได้เป็นฝ่ายผิด