ค่าเสียหายส่วนแรก

ค่าเสียหายส่วนแรก กับ ดีดัคทิเบิล แตกต่างกันอย่างไร

ค่าเสียหายส่วนแรก

ความรู้เรื่องประกันภัย กลายเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับผู้ทำประกันภัย เพราะหากผู้ทำประกันภัยรถยนต์ ไม่มีความรู้เลย ก็จะทำให้เสียเปรียบ และไม่รู้สิทธิในการเรียกร้องค่าชดเชยต่างๆได้ และไม่คุ้มกับที่ต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยไปแพงๆ  อย่างน้อยๆถ้าไม่รู้อะไรมาก ก็ควรจะรู้เรื่องค่าเสียหายส่วนแรก เพราะมีผลกับผู้เอาประกันภัยโดยตรงที่ต้องจ่ายเมื่อมีการเคลมประกันภัยเกิดขึ้น

ความรู้เรื่อง ค่าเสียหายส่วนแรก  มีความสำคัญมากในตอนที่เราต้องเคลมประกัน และยังมีผลต่อค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์รายปีด้วย ดังนั้น วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับค่าเสียหายส่วนแรกว่า คืออะไร สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง และสิ่งที่ควรปฏิบัติสำหรับผู้ทำประกันภัย เพื่อที่จะทำให้ตัดสินใจทำประกันภัยได้ถูกต้องในตอนแรก

ค่าเสียหายส่วนแรก

หลายคนอาจจะเคยได้ยิน แต่ยังไม่เข้าใจความหมายจองคำว่า ค่าเสียหาส่วนแรก อย่างชัดเจน จึงขออธิบายสั้นๆ เข้าใจง่ายๆ ว่า ค่าเสียหายส่วนแรก จะแบ่งออกเป็น 2 อย่าง คือ

ค่าเสียหาย Excess

ค่าใช้จ่ายที่ผู้ทำประกันต้องจ่ายตอนมีการเคลมประกันภัยรถยนต์เกิดขึ้น ในกรณีความเสียหาย ไม่ชัดเจน คลุมเครือ ไม่มีคู่กรณี ส่วนมากการเคลมประกันแบบนี้จะเจอกับการทำประกันภัยชั้น 1 เพราะสามารถเคลมประกันได้ โดยไม่ต้องประสบอุบัติเหตุ และไม่ต้องมีคู่กรณี การจ่ายค่าเสียหายส่วนแรกแบบ Excess จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อผู้เอาประกันภัยเคลมผิดเงื่อนไขกรมธรรม์เอง ก็จะทำให้มีค่าใช้จ่าย Excess เกิดขึ้นค่ะ   เช่น

เมื่อผู้เอาประกันภัยรถยนต์ทำการเคลมสีรถยนต์ แต่ไม่มีคู่กรณี บริษัทประกันภัยรถยนต์ ก็จะดำเนินการเคลมสำหรับประกันชั้น 1 ให้  และจ่ายค่าเสียหายให้กับรถยนต์คันที่เอาประกัน แต่หากคดียังดูคลุมเครือ ก็จะมีค่า Excess สำหรับผู้เอาประกันภัย

เคลมแบบไหนที่ไม่เรียกเก็บค่าเสียหาย Excess 

กรณีที่มีความชัดเจน มีคู่กรณี  เช่น รถชนกับรถคันอื่น  รถชนเสา ชนประตู ชนต้นไม้ ชนกำแพง ชนคน ชนสัตว์ ชนฟุตบาท ชนสะพาน ชนป้ายจราจร ชนทรัพย์สินต่างๆ ฯลฯ กรณีเหล่านี้ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหาย Excess

เคลมแบบไหนที่เรียกเก็บค่าเสียหาย Excess แน่นอน

กรณีที่ไม่มีความชัดเจนในการเคลมประกันภัย เช่น  รอยขีดข่วน  เฉี่ยวลวดหนาว สายไฟ กิ่งไม้ รถครูดกับพื้นถนน  เหยียบตะปู ของมีคม กระจกแตก รถถูกละอองสี ฯลฯ

ข้อควรระวังเพื่อไม่ให้มีค่า Excess เกิดขึ้น ผู้เอาประกันภัยรถยนต์ ควรหาคู่กรณีให้ได้ หรือเมื่อเกิดเหตุควรรีบแจ้งตัวแทนประกันภัยทันที ก็จะทำให้ผู้เอาประกันภัยไม่ต้องจ่ายค่า Excess

ค่าเสียหาย Deductible

ค่าเสียหาย  Deductible แตกต่างจาก ค่าเสียหาย Excess ตรงที่ ค่าเสียหายแบบ Deductible จะทำการตกลงค่าใช้จ่ายตอนทำประกันภัยตั้งแต่ครั้งแรก เพื่อลดค่าเบี้ยประกันภัยรายปี  เช่น

นาย ก. ต้องการทำประกันภัยภัยรถยนต์ ซึ่งมีค่าเบี้ยประกันรายปี 25,000 บาทต่อปี แต่ นาย ก.เสนอค่าเสียหาย Deductible 3,000 บาท นาย ก. ก็จะได้ลดค่าเบี้ยประกันลง เหลือ 21,000 บาท เป็นต้น

ในกรณีมีการเคลมประกัน หากมีการเรียกร้องค่าสินไหมเป็นเงิน 8,000 บาท  นาย ก. ต้องจ่ายค่าเสียหาย  Deductible 3,000 บาท เองตามที่มีการตกลงในครั้งแรก ส่วนบริษัทประกันภัยจ่าย 5,000 บาท  แต่ถ้าความเสียหายมีมูลค่าน้อยกว่า 3,000 บาท นาย ก. จะต้องจ่ายเอง  ซึ่งค่าเสียหาย  Deductible  จะอยู่ระหว่าง 1,000-1,500 บาท

ข้อควรระวัง คนที่จะทำประกันแบบระบุค่าเสียหาย  Deductible     ควรเป็นคนที่ไม่มีประวัติอุบัติเหตุ หรือเป็นคนที่ขับรถอย่างระมัดระวังอยู่แล้ว จึงจะคุ้มค่ากับการทำประกันแบบนี้ แต่ถ้าเป็นคนที่ใจร้อน ขับรถเฉี่ยวชนบ่อย ไม่ควรทำประกันภัยรถยนต์แบบค่าเสียหาย  Deductible เพราะจะไม่คุ้มค่า ถึงจะได้ค่าเบี้ยถูกลง แต่ต้องจ่ายค่าเสียหายส่วนหนึ่งตามสัญญาทุกครั้งที่มีการเคลมประกัน

ค่าเสียหายส่วนแรกทั้งสองแบบ ถึงจะเป็นค่าความเสียหายส่วนแรกเหมือนกัน แต่ก็มีความแตกต่างกันมาก  ซึ่งในปัจจุบัน เวลามีการเคลมประกัน อู่จะออกใบราคาและระบุชัดเจนว่าเป็น ค่าความเสียหายแบบ Excess

ดังนั้น ก่อนตัดสินใจทำประกันภัยรถยนต์ ต้องรู้ข้อมูล ต้องมีการพูดคุยและสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการทำประกันภัย และค่าเสียหายส่วนแรกให้ชัดเจน เพื่อจะได้รับความคุ้มครองอย่างเหมาะสมกับการใช้รถของเรา   จะได้ไม่เสียผลประโยชน์ไปแบบฟรีๆ โดยที่ไม่รู้

ก่อนทำประกันภัย จึงต้องตรวจสอบให้รอบคอบในข้อตกลงต่างๆ ในเอกสารสัญญา อย่างน้อยๆ เราต้องรู้ว่า เมื่อเกิดเหตุ หรือเวลามีเคลมประกันเราต้องรับผิดชอบหรือจ่ายส่วนไหน เท่าไหร่ เพื่อที่จะทำให้เราเกิดความรับผิดชอบและขับรถอย่างระมัดระวัง มากขึ้นด้วย

เรียบเรียงบทความโดย EasyInsure.co.th

Loading

2 thoughts on “ค่าเสียหายส่วนแรก กับ ดีดัคทิเบิล แตกต่างกันอย่างไร

  1. Pingback: เทคนิคการเลือกซื้อ ประกันชั้น 1 แบบประหยัด บอกเลยว่าถูกและดีมีอยู่จริง

  2. Pingback: ข้อสงสัยและคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับประกันภัยรถยนต์ อ่านง่ายได้ความรู้ !

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *