การต่อภาษี รถยนต์ ถือเป็นหน้าที่อย่างหนึ่งของเจ้าของรถ โดยการต่อภาษีรถยนต์ต้องทำทุกปี ถ้าต่อภาษีล่าช้าจะต้องถูกปรับย้อนหลังนับตั้งแต่วันที่หมดอายุ และถ้าไม่ชำระภาษีนานเกิน 3 ปีจะต้องถูกเพิกถอนทะเบียนรถคันดังกล่าว สำหรับรถยนต์ที่มีอายุเกินกว่า 7 ปีและรถจักรยานยนต์ที่มีอายุเกินกว่า 5 ปี เจ้าของรถจะต้องนำรถเข้าไปตรวจสภาพเสียก่อนโดยสามารถไปตรวจได้ที่กรมการขนส่งทางบก หรือสถานตรวจรถของเอกชนที่ได้รับการรับรอง (หรือที่เรียกว่า ตรอ.) โดยเอกสารที่ต้องใช้ในการต่อภาษีรถยนต์มีดังนี้
- เล่มทะเบียนรถพร้อมสำเนา ในกรณีที่รถคันดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของสถาบันการเงิน เจ้าของรถสามารถใช้เพียงแค่สำเนาเล่มทะเบียนรถก็ได้
- เอกสารที่เป็นหลักฐานแสดงว่าได้มีการต่อประกันภัยภาคบังคับ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถแล้ว ถ้าเจ้าของรถยังไม่ได้ต่อ พ.ร.บ. จะไม่สามารถต่อภาษีรถยนต์ได้
- เอกสารการตรวจสภาพรถยนต์จากกรมการขนส่งทางบก หรือสถานตรวจรถเอกชน (ตรอ.)
- กรณีเป็นรถที่มีการดัดแปลงติดแก๊สเป็นเชื้อเพลิงไม่ว่าจะเป็นแก๊ส NGV หรือ LPG ก็ตาม เจ้าของรถจะต้องมีใบรับรองการติดตั้งจากวิศวกร (เรียกขอได้จากร้านที่นำรถไปติด)
ในส่วนของสถานที่ที่สามารถไปดำเนินการต่อภาษีรถยนต์มีดังนี้
- กรมการขนส่งทางบกที่ใกล้บ้าน หรือเจ้าของรถสะดวกเดินทางไป ซึ่งในกรมการขนส่งบางที่อาจจะมีบริการ drive-through ซึ่งจะช่วยลดเวลาดำเนินการลงได้อีก มีเวลาเปิดทำการตั้งแต่ 7.30-15.30
- ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งทุกสาขาในกรุงเทพมหานคร แต่มีข้อยกเว้นคือจะต้องเป็นรถยนต์ที่จดทะเบียนในกรุงเทพฯ เท่านั้นและต้องไม่เป็นการจ่ายภาษีแบบที่ค้างชำระ สามารถจ่ายล่วงหน้าได้ไม่เกิน 3 เดือน
- สำนักงานเขตทุกเขตในกรุงเทพมหานคร แต่ต้องเป็นแบบไม่ค้างชำระและจ่ายล่วงหน้าไม่เกิน 3 เดือน
- ที่ทำการไปรษณีย์ทุกแห่งมีบริการรับชำระภาษีรถยนต์เช่นกัน และมีเงื่อนไขเช่นเดียวกับเบื้องต้น
- ตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำ เช่น ห้างบิ๊กซี ห้างในเครือเซนทรัล หรือพาราไดส์พาร์ค (ศรีนครินทร์) เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการหาสถานที่ต่อภาษีรถยนต์ในห้างสรรพสินค้า ควรสอบถามพิกัดบริเวณที่ดำเนินเรื่องการต่อภาษีกับทางพนักงานต้อนรับจะรวดเร็วกว่าการเดินหาด้วยตนเอง
- ต่อทางอินเตอร์เน็ต หรือที่เรียกว่าการต่อภาษีออนไลน์ เป็นอีกวิธีหนึ่งที่กรมการขนส่งทางบกอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประสงค์จะต่อภาษีรถยนต์ โดยสามารถทำที่ไหนก็ได้ที่มีคอมพิวเตอร์ที่ต่ออินเตอร์เน็ต เพียงแค่เตรียมเอกสารเหมือนกับการไปต่อที่กรมการขนส่งทางบก กรอกข้อมูลและเลือกวิธีการชำระเงินได้ 3 ช่องทางไม่ว่าจะเป็นหักจากบัญชี ผ่านบัตรเครดิต หรือพิมพ์เอกสารออกมาแล้วไปจ่ายที่เคาน์เตอร์เซอร์วิส แต่การต่อภาษีทางอินเตอร์เน็ตไม่สามารถต่อได้กรณีที่ภาษีค้างชำระเกิน 1 ปีและล่วงหน้าไม่เกิน 3 เดือน สำหรับรถที่ต้องใช้เอกสารการตรวจรถก็ไม่สามารถต่อทางอินเตอร์เน็ตได้เช่นกัน
ขอบคุณภาพจาก Rabbit Finance