มารู้จักค่าสินไหมทแทน ค่าชดเชยที่จ่ายให้แม้ผิดเงื่อนไขประกัน | สไตล์อีซี

ผู้ทำประกันรถยนต์หลายๆ ท่านน่าจะคุ้นเคยกับคำว่าสินไหมทดแทน ซึ่งก็คือค่าชดเชยความเสียหายที่บริษัทประกันจ่ายให้อาจจะเป็นในรูปเงิน หรือเป็นการซ่อมแซมความเสียหายให้กลับมาอยู่ในสภาพปกติใช้งานได้ ซึ่งสินไหมกรุณาเองก็มีความหมายคล้ายคลึงกัน แต่จะต่างกันตรงที่มาของสินไหมนี้ โดยทั่วไปผู้ทำประกันจะได้รับการชดเชยค่าเสียหายในกรณีที่อุบัติเหตุหรือภัยที่เกิดขึ้นนั้นระบุอยู่ในกรมธรรม์ เช่น กรมธรรม์ระบุไว้ว่าจะชดเชยค่าเสียหายให้กรณีรถเกิดไฟไหม้ เมื่อเกิดไฟไหม้รถเสียหายบริษัทประกันก็จ่ายค่าสินไหมชดเชยให้ แต่สินไหมเป็นกรุณาเป็นการจ่ายค่าชดเชยค่าเสียหายให้แม้ว่าความเสียหายหรือภัยที่เกิดขึ้นไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขที่ระบุในกรมธรรม์ ซึ่งเงื่อนไขเหล่านั้นมักเป็นเงื่อนไขที่บริษัทประกันอาจจะระบุไว้ในกรมธรรม์ว่าเป็นข้อยกเว้นที่จะไม่จ่ายค่าชดเชยให้กับผู้ทำประกัน (ในเอกสารกรมธรรม์อาจจะระบุเป็นตัวหนังสือสีแดงที่แตกต่างจากปกติ) ผู้ทำประกันจะได้รับสินไหมกรุณาในกรณีใดบ้าง มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาจ่ายดังนี้

  • ผู้เอาประกันภัยมีความสุจริตใจ หมายถึง ผู้ทำประกันไม่ได้มีเจตนาให้เกิดเหตุเสียหายนั้นๆ หรือเป็นภัยที่อยู่นอกเหนือจากความคาดหมายจริงๆ และอีกนัยหนึ่งคือผู้ทำประกันมีประวัติการทำประกันที่ดี เช่น เคลมไม่บ่อย เคลมตามกรณีที่เกิดเหตุจริงๆ
  • ความเสียหายที่ส่งผลกระทบต่อผู้เอาประกันภัยนั้นต้องได้รับความช่วยเหลือเพื่อไม่ให้เกิดต่อเนื่องอีก หมายถึง ถ้าบริษัทประกันไม่จ่ายค่าชดเชยสำหรับความเสียหายนั้น ผู้เอาประกันอาจจะได้รับความเสียหายอื่นๆ ตามมาได้อีก
  • กรณีเป็นประกันภัยต่อต้องได้รับความเห็นชอบจาก reinsurer แล้ว (ความหมายของ reinsurer คือรูปแบบของธุรกิจประกันชนิดหนึ่งซึ่งไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับผู้ทำประกัน)
  • สินไหมกรุณาเป็นสินไหมที่ให้เปล่า การพิจารณาจ่ายสินไหมจากความเสียหายจริงแต่อาจจะไม่จ่ายเต็ม และไม่ใช่เหตุที่นำไปฟ้องร้องได้ พูดง่ายๆก็คือ ถ้าบริษัทพิจารณาแล้วว่าจะจ่ายชดเชยค่าเสียหายเพียงเท่าไหร่ก็เท่านั้น ผู้ที่ได้รับค่าชดเชยไม่สามารถฟ้องร้องทางกฎหมายได้ เพราะอย่างที่แจ้งไว้ข้างต้นคือ เป็นสินไหมที่ผู้ทำประกันไม่น่าจะได้รับแต่แรกอยู่แล้ว

จะเห็นได้ว่าพฤติกรรมของผู้ทำประกันเป็นปัจจัยหนึ่งในการพิจารณาจ่ายค่าสินไหมกรุณา ถ้าผู้ทำประกันเคยมีคดีทุจริตหรือเคลมบ่อยแบบไม่มีเหตุผล ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาอาจจะได้รับการจ่ายค่าชดเชยความเสียหายก็ตาม แต่อาจจะไม่ได้รับพิจารณากรณีสินไหมกรุณา ผู้ทำประกันต้องทำความเข้าใจก่อนว่าสินไหมกรุณาเป็นกรณีพิเศษนอกเหนือจากข้อตกลง ดังนั้นจะได้รับหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาของบริษัทประกันเพียงฝ่ายเดียว แต่ถ้ามองในอีกมุมหนึ่งสินไหมกรุณาก็เป็นปัจจัยหนึ่งในการเลือกในการไว้วางใจทำประกันของผู้ทำประกันด้วยเช่นกัน

 

Loading

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *